คุยกับ “อนุวัฒน์ ร่วมสุข” 20 ปี จากดีลไอพีโอ PTT ถึง หุ้น OR

สัมภาษณ์พิเศษ

จากกระแสการขายหุ้นไอพีโอของ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ที่ถือว่าหุ้นไอพีโอแห่งปีสร้างปรากฏการณ์ให้นักลงทุนหน้าใหม่เข้ามาสนใจการลงทุนในตลาดหุ้นอย่างมากมาย ทำให้ OR กลายเป็นบริษัทที่มีนักลงทุนรายย่อยเข้ามาจองซื้อถึง 5.3 แสนราย

เรียกว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วยวิธีการจัดสรรหุ้นไอพีโอด้วยวิธีการที่เรียกว่า “small lot first” ที่ทำให้นักลงทุนรายย่อยทุกคนที่จองซื้อหุ้นจะได้รับการจัดสรรอย่างเท่าเทียมทุกคน

นอกจากนี้ เมื่อเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ราคาหุ้น OR ก็วิ่งฉิวแบบที่ไม่ทำให้นักลงทุนผิดหวัง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการทำไอพีโอครั้งนี้ คือ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) รวมถึงผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหลักของหุ้น OR และยังเป็นบริษัทที่ทำดีลไอพีโอบริษัทยักษ์ใหญ่อีกหลายราย

โอกาสนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “อนุวัฒน์ ร่วมสุข” กรรมการผู้จัดการ ประธานสายตลาดทุนกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ถึงประสบการณ์พาหุ้น IPO เข้าระดมทุนตลาดหุ้นไทย

บทเรียน 20 ปี จาก ปตท.สู่ OR

“อนุวัฒน์” เล่าว่า สำหรับดีลไอพีโอของ OR บริษัทใช้เวลาในการเตรียมการถึง 5 ปีกว่าที่จะเปิดขายไอพีโอและเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯได้เมื่อ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา เพราะด้วยกลุ่มธุรกิจใหญ่ก็ต้องมีการปรับโครงสร้างธุรกิจ การโอนทรัพย์สิน รวมทั้งมีหลาย ๆ ประเด็นที่ต้องเคลียร์ เพราะอะไรที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับ ปตท.ก็จะมีเพื่อน ๆ ที่เกี่ยวข้องเดินเข้ามาหาตลอดเวลา

“ไม่ใช่อยากให้ไอพีโอแล้วทำได้เลย อย่าง บมจ.โอสถสภาเราใช้เวลาทั้งหมด 4 ปี จากธุรกิจครอบครัวจัดโครงสร้างไปสู่มืออาชีพ หรือกรณีบริษัท ปตท. (PTT) ที่เป็นการแปรรูปเข้าระดมทุนตลาดหุ้นปี 2544 เราก็เริ่มเข้าไปทำงานตั้งแต่ปี 2540-2541 งานส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเตรียมตัวปรับโครงสร้าง เมื่อพร้อมแล้วก็เป็นเรื่องการขออนุญาตสำนักงาน ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วก็มาดูเรื่องไทม์มิ่ง จังหวะเวลาในการเสนอขาย”

สำหรับกรณีการทำไอพีโอหุ้น PTT เมื่อปี 2544 ถือเป็นหุ้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ณ ช่วงเวลานั้น ด้วยมาร์เก็ตแคปประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับหุ้นตัวอื่น ๆ ในตลาดที่มีมาร์เก็ตแคปหลัก 1,000 ล้าน ที่สุดก็สร้างปรากฏการณ์จองซื้อหุ้น IPO หมดภายใน 4 นาที แต่ก็เกิดปัญหาว่านักลงทุนไม่ได้รับการจัดสรรอย่างทั่วถึง

“ตอนนั้นเป็นช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง อีกทั้งยังมีเหตุการณ์ 9/11 และสงครามราคาน้ำมัน ฯลฯ ตอนเซอร์เวย์มีนักลงทุนสนใจน้อยมาก แต่หุ้น 3.2 หมื่นล้านบาทเมื่อ 20 ปีที่แล้ว อีกทั้งนโยบายคือต้องขายรายย่อยเยอะที่สุดจึงต้องมาคิดกันว่าวิธีการเสนอขายจะเป็นแบบไหน ซึ่งตอนนั้นใช้วิธีการ first come first serve”

ขณะที่อีก 20 ปีให้หลัง หรือในปี 2564 การเสนอขายหุ้น OR เผชิญโจทย์เดียวกันจากที่บริษัทต้องการกระจายหุ้นให้นักลงทุนรายย่อยจริง ๆ พร้อมกับโจทย์ที่ว่า “ถ้านักลงทุนจองแล้วต้องได้” จึงเป็นที่มาของวิธีการกระจายหุ้นแบบ “small lot first” ที่ทางบริษัทคิดขึ้นมา โดยเป็นการกระจายหุ้นให้นักลงทุนรายย่อยที่จองซื้อขั้นต่ำที่กำหนดเอาไว้ 300 หุ้นก่อน แล้วจึงกระจายหุ้นที่เหลือเวียนไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะครบจำนวนที่เสนอขาย ทำให้นักลงทุนรายย่อยที่จองซื้อหุ้น OR ก็ได้รับการจัดสรรทุกคน

เกียรตินาคินภัทรไม่มีสูตรสำเร็จ

เบื้องหน้ากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรได้ชื่อว่าเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดรายหนึ่ง สะท้อนจากความไว้วางใจที่บริษัทยักษ์ใหญ่เลือกใช้บริการ เช่น บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) หรือ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) ฯลฯ

ส่งผลให้บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จํากัด (มหาชน) มีส่วนแบ่งตลาดในการระดมทุนสูงสุดอันดับ 1 ในแง่มูลค่าซื้อขายของกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ และท็อป 3 ในกลุ่มนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ

ขณะที่เบื้องหลัง “อนุวัฒน์” ย้ำว่า “ไม่มีสูตรสำเร็จ” แต่มีหลายปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนความสำเร็จของบริษัทตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทั้งหมดล้วนทำให้เกิดกระบวนการขายหุ้นไอพีโอ เริ่มตั้งแต่แพลตฟอร์ม investment banking/capital market ที่สั่งสมประสบการณ์จนเข้าใจความต้องการของลูกค้า สามารถปรับโครงสร้างที่ลูกค้ายอมรับ และเอื้อต่อการขยายตัวในอนาคต

นอกจากนี้ ฝ่ายวิจัย “ทีมนักวิเคราะห์” ของบริษัทถือเป็นคีย์สำคัญ มีประสบการณ์ เป็นที่ยอมรับ และได้รับรางวัล Best Analyst โดยทีมวิเคราะห์ของกลุ่มการเงินเกียรตินาคินภัทรทำงานแบบเป็นทีมเดียวกันกับ “Bank of America” 1 ใน 4 สถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ซึ่งความร่วมมือนี้มีทั้งด้านงานวิจัยและการขาย

ดังนั้น ในการทำไอพีโอให้ลูกค้า บริษัทก็จะทำให้สามารถครอบคลุมถึงความต้องการได้ทั้งนักลงทุนสถาบันไทยและนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ ขณะที่ฝั่งนักลงทุนบุคคลที่เป็น wealth platform ปัจจุบันลูกค้ากลุ่มนี้ของบริษัทก็มีทรัพย์สินลงทุน (ไม่รวมเงินฝาก) มูลค่ากว่า 6 แสนล้านบาท

“เพราะฉะนั้น เวลาทำไอพีโอจะเข้าใจความต้องการนักลงทุนทุกกลุ่ม และจากที่เกียรตินาคินภัทรเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินทำให้มีผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่คอยสนับสนุนได้ หากลูกค้าที่ยังไม่พร้อมระดมทุนขายหุ้นไอพีโอก็อาจใช้การเสนอขายหุ้นกู้ หรือมากู้เงินกับธนาคารเกียรตินาคินภัทรก่อนเพื่อเตรียมความพร้อม รวมถึงบริการให้คำปรึกษา เช่น หลังไอพีโอแล้วมีแผนการซื้อกิจการ (M&A) หรือการขยายลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศ”

กฎธุรกิจ IB ห้ามหยุดวิ่ง

“อนุวัฒน์” กล่าวอีกว่า เนื่องจากธุรกิจการเงินโดยเฉพาะงานด้านวาณิชธนกิจ (IB) มีการแข่งขันที่สูงมาก ต้องวิ่งตลอดเวลา เพราะการหยุดอยู่กับที่ก็ถือว่าแพ้คู่แข่ง และไม่เคยคิดว่าสำเร็จ ต้องคิดเสมอว่างานที่ทำสามารถทำให้ดีขึ้นได้ รวมถึงการให้บริการลูกค้า

“ผมไม่มีสูตรสำเร็จ เราไม่มีสูตรสำเร็จ เราภูมิใจในคนและหลักการในการให้บริการของเราที่ยึดลูกค้าเป็นที่ตั้ง และเราไม่เคยคิดว่าเราสำเร็จ เพราะถ้าเมื่อไหร่รู้สึกว่าสำเร็จแล้ว แค่คิดแบบนี้พรุ่งนี้เราก็แพ้แล้ว” นายอนุวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย