เทรนด์ “บาทอ่อน” ครึ่งปีแรก แรงหนุนบอนด์ยีลด์ USA พุ่ง

จับตาบอนด์ยีลด์สหรัฐพุ่งแรงหนุนเงินบาทครึ่งปีแรก “อ่อนค่า” แบงก์ “กรุงไทย” ประเมินแตะ 32 บาท จับตา 3 ปัจจัยกระทบเทรนด์ค่าบาท “บล.ไทยพาณิชย์” คาดแตะ 30 บาทช่วงสิ้นไตรมาสแรกนี้ มองเกิดจากแรง “เก็งกำไร” ฟาก “กรุงศรีฯ”ชี้ระยะสั้นขึ้นกับบอนด์ยีลด์สหรัฐ

นายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่าย ทีม Investment and Markets Research ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารได้ปรับประมาณการค่าเงินบาทจากเดิมสิ้นปี 2564 คาดการณ์อยู่ที่ 28.50 บาทต่อดอลลาร์ เป็น 29.00 บาท โดยในช่วงครึ่งปีแรกจะเห็นค่าเงินบาทอ่อนค่าถึง 32.00 บาท ส่วนครึ่งปีหลัง คาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว

ทั้งนี้ ตัวแปรสำคัญมีอยู่ 2-3 ปัจจัย ได้แก่ 1.การดำเนินนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งตั้งแต่ต้นปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ธปท.ไม่ได้เข้าซื้อดอลลาร์มากนัก 2.ดุลบัญชีเดินสะพัดที่อ่อนกำลังลงภายหลังการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวอาจจะฟื้นช้ากว่าเดิม

และ 3.ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น โดยในช่วง 2 เดือนแรกปีนี้เพิ่มขึ้นแล้ว 25-26% จากปีก่อนที่หดตัว -10% ซึ่งกดดันเงินเฟ้อ และทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) ปรับขึ้น ขณะเดียวกันไทยเป็นประเทศที่เศรษฐกิจอ่อนไหวกับราคาพลังงาน ดังนั้น หากมีการนำเข้าพลังงานจำนวนมาก อาจทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้นได้ ทำให้โอกาสที่เงินบาทจะแข็งค่าลดลงไป

สำหรับบอนด์ยีลด์สหรัฐที่ปรับตัวสูงขึ้นมองว่าเป็นผลทางอ้อมต่อค่าเงินบาทเนื่องจากตลาดการเงินที่ผันผวนมากหรือกระชากแรง ส่งผลในเชิงบรรยากาศ (sentiment) ที่นักลงทุนจะระมัดระวังการลงทุน ทำให้คนหันกลับไปถือเงินดอลลาร์ และบอนด์ยีลด์ที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นผลมาจากคาดการณ์เงินเฟ้อ ซึ่งจะกระทบต่อสกุลเงินที่มีความอ่อนไหวต่อราคาพลังงานและเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม ช่วง 5 ปีย้อนหลัง ประเทศไทยไม่เคยมีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ และยังเป็นประเทศที่เป็น safe haven (ที่หลบภัย) อยู่

“พอความเชื่อมั่นในตลาดลดลง ส่วนหนึ่งหันกลับมาระมัดระวังมากขึ้น ยิ่งเกิดเรื่องราคาพลังงาน เงินเฟ้อ และบอนด์ยีลด์ปรับเพิ่มขึ้นแบบรุนแรง มีส่วนให้นักลงทุนลดความเสี่ยงด้วยการไปถือครองดอลลาร์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวยังเชื่อว่าราคาพลังงานไม่น่าจะไปได้ไกลกว่านี้มากนักท่องเที่ยวอาจจะเข้ามาช้าแต่ก็ยังเข้ามาในช่วงไตรมาส 3 ต่อไตรมาส 4 และวัคซีนที่มาช้าก็ค่อย ๆ เข้าที่เข้าทาง” นายสงวนกล่าว

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน EASY INVEST บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) กล่าวว่า เงินบาทที่อ่อนค่าแรงช่วงที่ผ่านมา เพราะถูกกดดันจากเรื่องความผันผวนในตลาดการเงินที่ปรับตัวขึ้นเร็ว และราคาทองคำที่ปรับตัวลงสวนกับบอนด์ยีลด์สหรัฐ อย่างไรก็ดี SCBS มองการเคลื่อนไหวล่าสุดเกิดจากการเก็งกำไรเป็นหลัก ขณะที่พื้นฐานไทยยังคงเกินดุลการค้าและตัวเลขทุนสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับสูง จึงเชื่อว่าถ้าดอลลาร์หยุดแข็งค่า จะเห็นเงินบาทฟื้นตัว

“อย่างไรก็ดี เราปรับประมาณการเงินบาทสิ้นไตรมาส 1 นี้ มาที่ระดับ 30.00 บาทต่อดอลลาร์ จากเดิมที่มองว่าจะแข็งค่ากว่านี้ โดยเชื่อว่าเป็นระดับที่ผู้เล่นหลักในตลาดมองว่าเหมาะสม ส่วนทั้งปีต้องรอดูสถานการณ์ครึ่งปีหลังอีกที ทั้งนี้ สำหรับบอนด์ยีลด์สหรัฐที่เพิ่มขึ้นแรงนั้น เรามองว่ากระทบต่อค่าเงินบาทไม่มากนัก เพราะบอนด์ยีลด์ของไทยก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน” ดร.จิติพลกล่าว


นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า กรุงศรีฯยังคงประมาณการค่าเงินบาทในสิ้นไตรมาส 1 ปี 2564 นี้ไว้ที่ 29.85 บาท และในสิ้นปี 2564 อยู่ที่ 29.25 บาท อย่างไรก็ดี ระหว่างทางจะเห็นความผันผวนสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากบอนด์ยีลด์ยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วระยะสั้นค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าถึงระดับ 30.50 บาท หรือมากกว่านี้ แต่หากบอนด์ยีลด์นิ่งขึ้น หรือเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ค่าเงินบาทก็มีแนวโน้มแข็งค่ากลับมาได้