บสย.ควัก 3 หมื่นล้าน เปิดออปชั่น “เคลมสูง” อุ้ม 2 กลุ่มSME

บสย.ออกโครงการค้ำประกันใหม่ 1 หมื่นล้านบาท อุ้มธุรกิจท่องเที่ยวสู้ภัย “โควิด-19” ลั่นเป็นหนี้เสียเคลมได้สูงขึ้นที่ 35% พร้อมควักอีก 2 หมื่นล้านบาท เตรียมทำโครงการช่วยเอสเอ็มอีกลุ่ม “ปรับโครงสร้างหนี้” เปิดออปชั่นพิเศษเคลมสูงสุดได้ถึง 40% เริ่ม เม.ย.นี้

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า เนื่องจากภาคธุรกิจท่องเที่ยวยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาประเทศไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติปีละ 3 ล้านล้านบาท ปัจจุบันลดลงมาเหลือเพียง 7-8 แสนล้านบาท และในปี 2564 นี้ ประเมินว่ากว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาก็ช่วงไตรมาส 3-4

ดังนั้น เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ บสย.จึงได้ออกโครงการ “บสย. SMEs ไทยสู้ภัยโควิด 2” วงเงินรวม 1 หมื่นล้านบาท เพื่อบรรเทาผลกระทบผู้ประกอบการท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ในช่วง 5-6 เดือนนี้ ทั้งนี้ ประเมินว่าจะสามารถดูแลผู้ประกอบการได้กว่า 1.5 หมื่นราย คาดว่าจะสร้างสินเชื่อในระบบไม่น้อยกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท และพยุงการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจได้ถึง 1.8 แสนราย

“บสย.ได้ขยายอัตราการช่วยเหลือค่าประกันชดเชย (max claim) สูงถึง 35% เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจท่องเที่ยว จากเดิม บสย.ให้ max claim เพียง 25% พร้อมกันนี้ยังฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2 ปีแรก โดยวงเงินค้ำประกันสูงสุดต่อราย 100 ล้านบาท และระยะเวลาค้ำประกันนาน 10 ปี ซึ่งธุรกิจท่องเที่ยวสามารถขอรับการค้ำประกันได้ ตั้งแต่วงเงิน 2 แสนบาทขึ้นไป” นายรักษ์กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอได้ตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงวันที่ 31 พ.ค. 2564

นอกจากนี้ ในช่วงเดือน เม.ย. 2564 บสย.จะออกโครงการ “บสย. SMEs สร้างไทย เฟส 2” วงเงินรวม 2 หมื่นล้านบาท โดยขยาย max claim ให้ถึง 40% สำหรับผู้ประกอบการที่ปรับโครงสร้างหนี้โดยเฉพาะ แบ่งเป็นกลุ่มช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ค้างชำระหนี้ไม่เกิน 3 เดือน (special mention loan : SM) วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท และกลุ่มที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่ยังไม่เกิน 2 ปี อีก 1 หมื่นล้านบาท

“บางคนค้างจ่ายไม่เกิน 3 งวด บางคนอาจเกิน 3 งวดไปแล้ว งวดที่ 4 ก็ยังไม่จ่าย คนกลุ่มนี้จะได้ใช้ max claim 40% ซึ่งหมายความว่าคนกลุ่มนี้ยังไม่อยากโดนตีทรัพย์ชำระหนี้ ยังไม่อยากอยู่ในชั้นศาล ยังมีแรงมีกำลัง ก็สามารถมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่จะออกมาช่วง เม.ย.นี้ได้

โดยที่ผ่านมาช่วงต้นปี 2563 เราได้ออกโครงการ บสย. SMEs สร้างไทย เฟสแรกไป ซึ่งในรอบ 1 ปี มีธุรกิจที่เป็น NPL เพียง 2% และอีก 90% สามารถไปต่อได้ ดังนั้น โครงการที่เราทำมาสามารถช่วยผู้ประกอบการได้” นายรักษ์กล่าว

กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวด้วยว่า วงเงินในโครงการทั้งหมด 1 หมื่นล้านบาทที่ออกมา คาดว่าจะช่วยคุ้มครองหนี้เสียกว่า 3,500 ล้านบาท โดยในปี 2563 เอสเอ็มอีทั้งระบบที่เป็น NPL มีอยู่กว่า 4-5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มที่เป็น NPL แต่ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้อยู่ 60-70% โดยที่ผ่านมาด้วยวงเงินค้ำประกัน 3.5 แสนล้านบาท บสย.สามารถดูด NPL ออกมาทำให้กลายเป็นหนี้ดีได้กว่า 5 หมื่นล้านบาทของวงเงินค้ำประกัน