ค่าเงินดอลลาร์ลดแรงบวก หลังจาก US Bond Yield ปรับตัวลง

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 3 มีนาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (3/3) ที่ระดับ 30.27/28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (2/3) ที่ระดับ 30.29/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (US Bond Yield) อายุ 10 ปี ปรับตัวลงสู่ระดับ 1.422% ซึ่งพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อายุ 10 ปีถือเป็นพันธบัตรที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ขณะที่นักลงทุนเข้าซื้อพันธบัตรในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้ราคาพันธบัตรปรับตัวขึ้นและอัตราผลตอบแทนปรับตัวลง โดยราคาพันธบัตรและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับตัวในทิศทางตรงกันข้าม การเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากนายเกา ซู่ฉิง ประธานคณะกรรมการฝ่ายกำกับดูแลด้านการธนาคารและการประกันของจีน (CBIRC) ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากภาวะฟองสบู่ในตลาดการเงินทั่วโลก เนื่องจากการพุ่งขึ้นของตลาดกำลังอยู่ในทิศทางตรงกันข้ามกับภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริง และมีแนวโน้มว่าตลาดจะเผชิญกับการปรับฐานในไม่ช้านี้ คำเตือนของนายเกาส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่าจีนอาจจะใช้นโยบายควบคุมการขยายตัวอย่างร้อนแรงของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้นักลงทุนรอจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 16-17 มีนาคมนี้ โดยเมื่อวานนี้ (2/3) นางลาเอง เบรนาร์ด หนึ่งในคณะผู้ว่าการเฟดกล่าวว่า เฟดมีความมุ่งมั่นที่จะใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไปจนกว่าจะเป็นที่ชัดเจนว่าเงินเฟ้อได้ปรับตัวขึ้นและการจ้างงานได้ฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้นางเบรนาร์ดยังกล่าวว่าเงินเฟ้อที่คาดว่าจะพุ่งขึ้นในช่วงต้นปีนี้จะดำเนินไปเพียงชั่วคราวและจะไม่เพียงพอที่จะทำให้เฟดเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.27-33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.30/32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (3/3) ที่ระดับ 1.2091/95 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (2/3) ที่ระดับ 1.2012/15 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรปได้เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของยูโรโซนเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนมกราคมเมื่อเทียบเป็นรายเดือน ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เปิดเผยว่า ECB จะสกัดกั้นไม่ให้อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมปรับตัวขึ้นเร็วเกินไป โดยจะใช้โครงการซื้อคืนพันธบัตรเป็นเครื่องมือสร้างความยืดหยุ่นในตลาด โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2072/1.2107 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2084/86 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (3/3) ที่ระดับ 106.78/81 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (9/2) ที่ระดับ 106.87/90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นจากที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงพร้อมกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ปรับตัวลดลง ขณะที่ความหวังเกี่ยวกับการได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในญี่ปุ่นได้ช่วยหนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 106.66-106.89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 106.87/90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงในการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมของสหรัฐ จาก ADP เดือนกุมภาพันธ (3/3), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของสหรัฐ จากสถาบัน ISM เดือนกุมภาพันธ์ (3/3), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของไทย เดือนกุมภาพันธ์ (4/3), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการก่อสร้างของสหราชอาณาจักร เดือนกุมภาพันธ์ (4/3), จำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐ (4/3), ผลิตภาพนอกภาคการเกษตรของสหรัฐ ไตรมาส (4/3), ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนกุมภาพันธ์ (5/3), ยอดคำสั่งซื้อสินค้าจากโรงงานของเยอรมนีเดือนมกราคม (3/3), การจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ (5/3), อัตราว่างงานของสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ (5/3)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.1/0.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 1.8/3.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐดอลลาร์สหรัฐ