ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐพุ่งสูงขึ้น

ภาพประกอบข่าว เงินดอลลาร์
Photo by Sharon McCutcheon on Unsplash

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 1-5 มีนาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (1/3) ที่ระดับ 30.40/41 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันพฤหัสบดี (25/2) ที่ระดับ 30.10/12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าอย่างมากโดยได้รับปัจจัยหนุนจากการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อายุ 10 ปี ที่ปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ระดับประมาณ 1.60% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เนื่องจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีถือเป็นพันธบัตรที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวขึ้น จะทำให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นในการชำระหนี้ นอกจากนี้ดอลลาร์สหรัฐยังได้ปัจจัยหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพื่อควบคุมการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ หลังมีมุมมองว่าเศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัวเร็วขึ้นหลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงอย่างรวดเร็วหลังจากแจกจ่ายวัคซีน ทั้งนี้ในช่วงกลางสัปดาห์ค่าเงินบาทได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้น หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (US Bond Yield) อายุ 10 ปี ปรับตัวลงสู่ระดับ 1.4% หลังจากนายเกา ซู่ฉิง ประธานคณะกรรมการฝ่ายกำกับดูแลด้านการธนาคารและการประกันของจีน (CBIRC) ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากภาวะฟองสบู่ในตลาดากรเงินทั่วโลก เนื่องจากการพุ่งขึ้นของตลาดกำลังอยู่ในทิศทางตรงกันข้ามกับภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริง และมีแนวโน้มว่าตลาดจะเผชิญกับการปรับฐานในไม่ช้านี้ คำเตือนของนายกเกาส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่าจีนอาจจะใช้นโยบายควบคุมการขยายตัวอย่างร้อนแรงของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทได้ปรับตัวอ่อนค่าลงอีกครั้งในช่วงท้ายสัปดาห์ตามสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงหนุนอีกครั้งหลังจากที่นายพาวเวลได้กล่าวในคืนวันพฤหัสบดี (4/3) ว่าการที่สหรัฐกลับมาเปิดเศรษฐกิจ หลังมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ จะทำให้เงินเฟ้อดีดตัวขึ้น พร้อมทั้งแสดงความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนในตลาดพันธบัตรและภาวะตึงตัวด้านการเงินที่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายของเฟด นอกจากนี้นายพาวเวลไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะใช้มาตรการควบคุมความผันผวนที่เกิดขึ้นซึ่งสร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุนเป็นอย่างมาก ซึ่งหลังถ้อยแถลงดังกล่าวส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี พุ่งขึ้นเหนือระดับร้อยละ 1.5% ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อบรรยากาศการซื้อขายในตลาด และผลักดันให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้นักลงทุนรอจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 16-17 มีนาคมนี้ นอกจากนี้นักลงทุนจับตาดูตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร อัตราการว่างงานของสหรัฐเดือนกุมภาพันธ์ ที่จะประกาศในคืนวันศุกร์ (5/3) ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 30.21-30.49 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (5/3) ที่ระดับ 30.47/49 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ในส่วนของค่าเงินยูโร เปิดตลาดในวันจันทร์ (1/3) ที่ระดับ 1.2077/79 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันพฤหัสบดี (25/2) ที่ระดับ 1.258/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดและจะชะลอการอัดฉีดเงินเข้าระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ อย่างไรก็ดีค่าเงินยูโรได้ฟื้นตัวขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์หลังจาก สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรปได้เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของยูโรโซนเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนมกราคม เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เปิดเผยว่า ECB จะสกัดกั้นไม่ให้อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมปรับตัวขึ้นเร็วเกินไปโดยจะใช้โครงการซื้อคืนพันธบัตรเป็นเครื่องมือสร้างความยืดหยุ่นในตลาด ประกอบกับตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 57.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี จากระดับ 54.8 ในเดือนมกราคม ส่วนการจ้างงานเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากการคาดการณ์ที่ว่าความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในวงกว้างจะช่วยควบคุมการแพร่ระบาด และหนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น แต่ในช่วงท้ายสัปดาห์ค่าเงินยูโรได้รับแรงกดดันจากนายฟาบิโอ พาเนตตา สมาชิกคณะกรรมการธนาคารกลางยุโรป กล่าวว่า อีซีบีควรขยายโครงการซื้อพันธบัตร หรือเพิ่มโควตาที่จัดสรรไว้ให้แก่พวกเขาหากจำเป็น เพื่อทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรลดลงหลังจากที่ต้นทุนการกู้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายสัปดาห์ โดยผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึันตั้งแต่ต้นปี ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับพันธบัตรสหรัฐ และผู้กำหนดนโยบายหลายคนของอีซีบีเรียกร้องให้เพิ่มการซื้อพันธบัตรผ่านโครงการ Pandemic Emergency Purchase Programme หรือ PEPP เพื่อทำให้ต้นทุนการกู้อยู่ในระดับต่ำ โดยนายฟาบิโอยังย้ำว่าต้องป้องกันการปรับตัวขึ้นของเส้นอัตราผลตอบแทนที่มีการถ่วงน้ำหนักด้วยจีดีพีเป็นสิ่งที่ไม่ถึงประสงค์และไม่ควรลังเลที่จะเพิ่มปริมาณการซื้อพันธบัตร และใช้งบทั้งหมดในโครงการ PEPP หรือมากกว่านั้นหากจำเป็น ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1921-1.2112 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (5/3) ที่ระดับ 1.1922/24 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร


สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (1/3) ที่ระดับ 106.56/58 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันพฤหัสบดี (25/2) ที่ระดับ 106.09/12 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าต่อเนื่องตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ทางญี่ปุ่นได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 ล็อตที่ 3 จากบริษัทไฟเซอร์จำนวน 526,500 โดสเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ญี่ปุ่นได้เริ่มทำการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 เฟสแรกให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ 40,000 รายตามโรงพยาบาล 100 แห่งทั่วประเทศ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาและจะเริ่มฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์อีกจำนวน 4.7 ล้านคน หลังทำการส่งมอบวัคซีนให้กับหน่วยงานรัฐบาลในท้องถิ่นที่รับผิดชอบการฉีดวัคซีนทั่วประเทศ ด้านสำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ญี่ปุ่นจะดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน ตามด้วยกลุ่มที่มีโรคประจำตัว และกลุ่มพนักงานในบ้านพักคนชรา ก่อนจะฉีดให้บุคคลทั่วไปเป็นลำดับสุดท้าย ทั้งนี้ในช่วงกลางสัปดา์ค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงพร้อมกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ ที่ปรับตัวลดลง ขณะที่ความหวังเกี่ยวกับการได้รับวัคซีนป้องกันเชื่อไว้รัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในญี่ปุ่นได้ช่วยหนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุน อย่างไรก็ดีค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าลงในช่วงท้ายสัปดาห์จากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับ 1.5% ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนมีการเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 106.37-108.48 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (5/3) ที่ระดับ 108.48/49 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ