ธปท.เคาะสูตรโกดังเก็บหนี้ อุ้มโรงแรมสกัดนายทุนกดราคา

ท่องเที่ยว ทะเล
ภาพ Pixabay

คลัง-แบงก์ชาติเคาะโมเดล “โกดังเก็บหนี้” แบงก์เจ้าหนี้รับซื้อทรัพย์มาเก็บไว้ 3-5 ปี อุ้มธุรกิจท่องเที่ยวโรงแรมไม่ให้ถูกนายทุน “กดราคา” กำหนดตีโอนทรัพย์ตามยอดหนี้คงเหลือสูงสุดไม่เกิน 80% ของมูลค่าหลักประกัน คิดค่าเก็บรักษาหนี้ 1-2% ต่อปี เป็นราคาขายคืนเจ้าของ คลังจ่อชง ครม.กลาง มี.ค.นี้ คู่ขนาน พ.ร.ก.ซอฟต์โลนใหม่ ปลดล็อกเพดานปล่อยกู้สูงสุด 500 ล้านบาท

แหล่งข่าวระดับสูงจากธนาคารพาณิชย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย รวมถึงสถาบันการเงินต่าง ๆ ได้มีการประชุมหารือถึงแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมและเกี่ยวเนื่องที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่เป็นลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐผ่านการทำโครงการ “โกดังเก็บหนี้” (Asset Warehousing)

ขณะนี้ได้มีข้อสรุปค่อนข้างชัดเจนแล้ว คาดว่าทางกระทรวงคลังจะเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ช่วงกลางเดือน มี.ค.นี้ พร้อมกับร่างพระราชกำหนดซอฟต์โลนฉบับใหม่ เพื่อปลดล็อกเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่ค่อนข้างเข้มงวด ทำให้ที่ผ่านมามีการปล่อยซอฟต์โลนไปได้ประมาณ 1.25 แสนล้านบาท และยังคงมีเงินเหลืออีกกว่า 3 แสนล้านบาท

เคาะสูตรซื้อหนี้เข้าโกดัง

สำหรับข้อสรุปหลักเกณฑ์การจัดทำโครงการ “โกดังเก็บหนี้” ประเด็นหลักคือ กำหนดให้ลูกหนี้แบงก์ที่จะเข้าร่วมโครงการต้องตีโอนทรัพย์ชำระหนี้มาอยู่กับแบงก์ ซึ่งกำหนดราคารับซื้อเป็นไปตามยอดหนี้คงค้าง แต่จะต้องไม่เกิน 80% ของมูลค่าหลักประกัน (LTV) เช่น ลูกหนี้มีหนี้คงค้างอยู่ 80 ล้านบาท แต่มีหลักประกันมูลค่า 100 ล้านบาท แบงก์ก็จะรับซื้อในราคา 80 ล้านบาทนำมาเก็บเข้าโกดังไว้

โดยมีกำหนดระยะเวลาเก็บหนี้ไว้ขั้นต่ำ 3-5 ปี เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในการลดภาระการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย ป้องกันไม่ให้ทรัพย์ตกไปอยู่ในมือนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงป้องกันการเทขายสินทรัพย์ออกมาพร้อม ๆ กันในปริมาณมาก ซึ่งจะทำให้เกิดการกดราคารับซื้อได้ โดยตามสัญญาเมื่อครบกำหนดตามที่ตกลง ลูกหนี้เจ้าของกิจการได้สิทธิมาซื้อทรัพย์สินกลับคืน โดยภาครัฐจะมีการออกประกาศยกเว้นภาษีที่เกี่ยวข้องกับการตีโอนชำระหนี้ให้ อาทิ ภาษีการโอน ภาษีนิติบุคคล เป็นต้น

แบงก์บวกค่าดูแล 1-2% ต่อปี

แหล่งข่าวกล่าวว่า การโอนทรัพย์สินมาอยู่ที่ธนาคารเจ้าหนี้จะมีข้อตกลงด้วยว่า ลูกหนี้หรือเจ้าของโรงแรมจะต้องเสียค่าดูแล (caring cost) ที่อัตรา 1-2% ต่อปี ซึ่งจะจ่ายกันตอนซื้อทรัพย์สินคืน เช่น ธนาคารรับโอนมาในราคา 100 บาท หากซื้อคืนหลังครบ 3 ปี ราคาจะอยู่ที่ 106 บาท เป็นต้น ในส่วนอัตราค่าดูแลทรัพย์สินนี้จะเป็นมาตรการเดียวกันทุกธนาคาร โดยเทียบกับภาระดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ต้องชำระแล้ว ถือว่ามีต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำกว่ามาก

พร้อมกันนี้ธนาคารเจ้าหนี้จะปล่อยสภาพคล่องให้ลูกหนี้ที่เข้าโครงการเพิ่มเติมด้วย เพื่อให้มีกระแสเงินสดไปทำธุรกิจต่อไป และระหว่างทางที่แช่แข็งหนี้ ลูกหนี้สามารถเช่าทรัพย์สินเพื่อใช้ดำเนินธุรกิจให้ต่อเนื่องไปด้วยได้

“สำหรับการคิดอัตราค่าเช่าจะขึ้นอยู่กับธนาคารและลูกหนี้ตกลงกัน แต่เชื่อว่าสถาบันการเงินก็น่าจะคิดค่าเช่าในอัตราถูก เพราะใบอนุญาตดำเนินธุรกิจยังคงเป็นของลูกหนี้ ขณะที่ในมุมของธนาคาร การให้เช่าก็ดีกว่าปล่อยทิ้งไว้เฉย ๆ ส่วนกรณีเมื่อครบสัญญาแล้วลูกหนี้ไม่ซื้อทรัพย์สินคืน แบงก์ก็สามารถบริหารจัดการทรัพย์นั้นได้ทันที อย่างไรก็ดี เชื่อว่าลูกหนี้ น่าจะต้องการซื้อคืนเพราะขายในราคาถูก” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

ในส่วนของแบงก์ต่าง ๆ เห็นด้วยและต้องการให้โครงการ “โกดังเก็บหนี้” ออกมาโดยเร่งด่วน เพราะยิ่งออกมาช้าก็อาจจะไม่ทันสถานการณ์ เพราะตอนนี้เริ่มมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว น่าจะเปิดประเทศได้ ซึ่งลูกหนี้จะได้มีเวลาวางแผนล่วงหน้า 3-6 เดือน

“โครงการนี้น่าจะออกมาได้ช่วงไตรมาส 2 ส่วนวงเงินการเติมสภาพคล่องก็จะใช้เงินจากซอฟต์โลนที่เหลืออยู่กว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้คลังและแบงก์ชาติก็อยู่ระหว่างจัดทำร่าง พ.ร.ก.ซอฟต์โลนฉบับใหม่ เพื่อปลดล็อกเงื่อนไขต่าง ๆ ซึ่งคาดว่าจะโยกวงเงินมาจาก พ.ร.ก.ซอฟต์โลนเดิม” แหล่งข่าวกล่าว

“ซอฟต์โลนใหม่” ให้กู้ถึง 500 ล้าน

ขณะที่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังกล่าวว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับ ธปท.ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านการปรับปรุง พ.ร.ก.ซอฟต์โลน ซึ่งมีวงเงินเหลืออยู่ประมาณ 3 แสนล้านบาท เนื่องจากที่ผ่านมายังมีผู้ประกอบการหลายรายไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อซอฟต์โลนดังกล่าวได้ ทั้งนี้ อาจจะแบ่งวงเงินจาก พ.ร.ก.ซอฟต์โลนไปทำโครงการ Asset warehousing หรือโกดังเก็บหนี้ด้วย เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)

“ขณะนี้ยังไม่สรุปวงเงินว่าจะแบ่งให้จำนวนเท่าไหร่ แต่จะช่วยเหลือเรื่องสินเชื่อซอฟต์โลนซึ่งก็เป็นหลักแสนล้านบาท โดยรูปแบบอาจจะเป็นการออก พ.ร.ก.ฉบับใหม่” นายอาคมกล่าว

ทั้งนี้ พ.ร.ก.ซอฟต์โลนฉบับใหม่ หลักการในเบื้องต้นจะมีการปรับเงื่อนไขและรายละเอียดให้ธุรกิจสามารถขอวงเงินได้สูงสุดรายละไม่เกิน 500 ล้านบาท จากเดิมไม่เกิน 20% ของหนี้คงค้างเดิม และเปิดช่องให้แบงก์คิดอัตราดอกเบี้ยได้มากกว่า 2%

นายอาคมกล่าวว่า ในการหารือร่วมกับ ธปท.เกี่ยวกับโครงการ Asset Warehousing ในเบื้องต้น จะให้แต่ละแบงก์ดำเนินการกันเอง โดยรัฐบาลไม่ได้ให้เงินสนับสนุนเพิ่มเติม แต่จะสนับสนุนในรูปแบบการช่วยเหลือด้านภาระภาษี เช่น การยกเว้นภาษีการตีโอนทรัพย์ เป็นต้น ทั้งนี้ คาดว่าโครงการจะออกมาภายในไม่เกิน 2 เดือน

SCB ชี้ลูกค้าโรงแรมบาดเจ็บ

นายอารักษ์ สุธีวงศ์ ผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันสมาคมธนาคารไทย, ธปท. และกระทรวงการคลัง กำลังหารือกันเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มโรงแรมและเกี่ยวเนื่องที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยทำโครงการ “โกดังเก็บหนี้” ซึ่งน่าจะออกมาได้ในเร็ว ๆ นี้ เป็นโครงการระดับประเทศที่มีขนาดใหญ่ ที่ภาครัฐจะต้องมีมาตรการออกมาช่วยสนับสนุน

“จะมีการกำหนดชัดเจนในการนำสินทรัพย์มาทำ warehousing ว่าจะทำด้วยวิธีการอย่างไร เรื่องของต้นทุนการดำเนินการ ระยะเวลาการพักหนี้ และการกำหนดราคาซื้อคืน หลังลูกหนี้กลับมาเป็นปกติ ซึ่งทั้งหมดจะต้องมีกฎเกณฑ์ออกมารองรับ โดยจะต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ธนาคารนำกรอบหลักเกณฑ์ไปปฏิบัติเป็นการทั่วไป จากเดิมจะเป็นต่างคนต่างทำ”

นายอารักษ์กล่าวยอมรับว่า ลูกค้ากลุ่มโรงแรมของไทยพาณิชย์ได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่พึ่งพาการท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก อย่างไรก็ดี มีบางรายที่เน้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวของคนในประเทศ ซึ่งกลุ่มนี้เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น ทยอยกลับมาชำระหนี้ได้

“กลุ่มที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นหลักยังคงลำบาก กลุ่มนี้หากสายป่านยาวก็สามารถประคองตัวได้ไม่ถึงขั้นล้มแต่ได้รับบาดเจ็บ ส่วนรายที่สายป่านสั้นอาจจะค่อนข้างเหนื่อย ภาครัฐจึงจำเป็นต้องมีนโยบายการทำ Asset Warehousing ออกมาช่วย และธนาคารกำลังรวบรวมข้อมูลและพิจารณาการช่วยเหลือ”

แบกพอร์ตโรงแรม 8 หมื่นล้าน

นายสารัชต์ รัตนาภรณ์ ผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์กล่าวว่า ธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อโรงแรมราว 8 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 15-20% ของตลาด ถือว่าเยอะสุดในตลาด ซึ่งต้องยอมรับว่าในช่วงหลังการระบาดระลอกแรกลูกค้ากลุ่มโรงแรมประมาณ 30-40% เริ่มกลับมาชำระหนี้ได้แล้ว แต่หลังจากมีการระบาดระลอกใหม่ทำให้ลูกค้าได้รับผลกระทบอีกครั้ง ปัจจุบันมีลูกค้าประมาณ 90% ที่เข้าโปรแกรมช่วยเหลือ เช่น พักชำระหนี้ 6 เดือนจนถึงมิถุนายน 2564 และค่อยกลับมาพิจารณาช่วยเหลือต่อไปหากยังไม่ไหวเป็นรายกรณี

อย่างไรก็ดี ธนาคารมองว่าลูกค้ากลุ่มนี้มีศักยภาพ เพราะมีหลักทรัพย์ค้ำประกันคุ้มมูลหนี้ โดยเฉลี่ยภาระหนี้ต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) ค่อนข้างต่ำอยู่ที่ประมาณ 40-60% จึงมองว่าไม่น่าจะมีปัญหาด้านคุณภาพหนี้