ความหวังต่างชาติเที่ยวไทย ต่อลมหายใจฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย

นักท่องเที่ยว
ความหวังนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยน่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอีกปัจจัยหนึ่งต่อจากนี้ หลังภาพเศรษฐกิจไทยดูเหมือนจะผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว หลังต้องเผชิญผลกระทบโควิดระลอก 2 โดยล่าสุด “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ได้ติดตามอัตราการฉีดวัคซีนของตลาดสำคัญ 10 แห่งที่มีผลต่อการท่องเที่ยวไทย จึงประมาณการปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้าไทยได้ราว 2 ล้านคน ซึ่งตัวแปรหลักอยู่ที่ “นักท่องเที่ยวจีน
โดยล่าสุดวานนี้ความคืบหน้าวัคซีนพาสปอร์ต(Vaccine Passport) โดยคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเห็นชอบหลักการทำ Vaccine Passport สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ครบโดส ให้ลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน ส่วนผู้ที่ไม่มี Vaccine Passport แต่มีผลตรวจโควิด-19 ยืนยัน 72 ชั่วโมง ก่อนเดินทางเป็นลบให้ลดวันกักตัวเหลือ 10 วัน
ยกเว้นผู้ที่เดินทางมาจากทวีปแอฟริกายังคงต้องกักตัว 14 วันเช่นเดิม คาดจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่เดือน เม.ย. 64 เป็นต้นไป และระยะถัดไปตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 64 หากสามารถฉีดวัคซีนให้บุคลากรทางการแพทย์เกิน 70% และประชาชนที่ทำงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยวได้รับวัคซีนเพียงพอแล้ว บางพื้นที่อาจผ่อนคลายไม่ต้องกักตัว คาดหนุนหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวให้กลับมาฟื้นตัวได้ แต่ทั้งนี้ยังต้องรอดูการกระจายวัคซีนของไทยว่าจะทำได้รวดเร็วหรือไม่ก่อนทำการจับคู่

คาดต่างชาติเที่ยวไทย 2 ล้านคน จับตานโยบายรัฐบาลจีน

นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ในปีนี้เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ตัวแปรหลักคือการเปิดรับนักท่องเที่ยว ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการกระจายวัคซีนโควิดและนโยบายของแต่ละประเทศที่มีผลอย่างมากต่อการฟื้นตัวของตลาดท่องเที่ยวไทย ซึ่งจากการติดตามอัตราการฉีดวัคซีนของตลาดสำคัญ 10 แห่งที่มีการฉัดวัคซีนให้ประชากรในประเทศ พบว่า ประเทศจีนได้ฉีดวัคซีนไปแล้ว 21% ยุโรป 43% สหรัฐ 85% รัสเซีย 20% สิงคโปร์ 60% เกาหลีใต้ 25% ฮ่องกง 24% ญี่ปุ่น 10% มาเลเซีย 7% และเวียดนาม 3%
“ซึ่งตัวแปรสำคัญจะอยู่ที่นโยบายรัฐบาลจีนว่าจะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาเมืองไทยหรือไม่ และนโยบายการลดวันกักตัว รวมไปถึงความคืบหน้าวัคซีนพาสปอร์ต”
ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 4/64 ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของไทย(ไฮซีซั่น) โดยภายใต้สมมุติฐานที่นโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวเป็นไปตามแผนของภาครัฐและมีความชัดเจนเกี่ยวกับวัคซีนพาสปอร์ตมากขึ้น มีข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศน้อยลง ประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในปี 64 จะอยู่ที่ 2 ล้านคน เฉพาะไตรมาส 4/64 เข้ามาได้ราว 1.9 ล้านคน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะสูงขึ้นหากแต่ละประเทศมีการฉีดวัคซีนในอัตราเร่งตัวขึ้น เช่น จาก 2 โดสเหลือ 1 โดส เป็นต้น แต่ก็จะมีดาวน์ไซต์เพราะคนที่ฉีดวัคซีนอาจจะไม่ใช่กลุ่มที่จะเดินทางท่องเที่ยว เช่น แพทย์, ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง, ผู้สูงอายุ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าไทย มองว่าผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยวจำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนด้วยเช่นกัน หากประเมินจากการจ้างงานในธุรกิจโรงแรมในพื้นที่ 20 จังหวัดที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติราว 1 แสนคน อาจต้องการวัคซีนอย่างน้อย 2.2 แสนโดส ก่อนเดือน ต.ค.64 ที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้าไทยในฤดูท่องเที่ยว ซึ่งเบื้องต้นรัฐอยู่ระหว่างพิจารณาและคาดว่าคงเกิดขึ้นได้หากวัคซีนมาตามแผน โดยเฉพาะลอตวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า
“ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย 2 ล้านคน ถือว่ายังน้อย เพราะฉะนั้นธุรกิจเกี่ยวเนื่องการท่องเที่ยว ยังจำเป็นต้องพึ่งพาตลาดไทยเที่ยวไทยไปก่อนในปีนี้” นางสาวเกวลินกล่าว

ปรับกรอบจีดีพีไทยแคบลงเหลือ 0.8-3% สะท้อนเศรษฐกิจผ่านจุดต่ำสุด

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กล่าวต่อว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย(จีดีพี) ปี 64 อยู่ที่ 2.6% แต่ได้ปรับกรอบประมาณการแคบลงจากเดิมที่ 0.0-4.5% มาที่ 0.8-3% สะท้อนมุมมองการผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว โดยหากเกิดการระบาดรอบใหม่เชื่อว่าจะไม่รุนแรง มาตรการควบคุมจะเป็นเฉพาะจุดมากขึ้น เพราะฉะนั้นผลกระทบต่อเศรษฐกิจน่าจะเบาบางลง
โดยกรอบล่างเป็นดาวน์ไซต์กรณีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยได้ช้าและไม่ถึง 2 ล้านคน ส่วนกรอบบนมีอัพไซต์กรณีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยเกินกว่า 2 ล้านคน และภาพตัวเลขส่งออกดีกว่าคาดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ได้ปรับประมาณการจีดีพีโลกปี 64 อยู่ที่ 5.5% และปี 65 อยู่ที่ 4.2% หลักๆ มาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย แต่จีดีพีไทยอาจจะเป็นการฟื้นตัวที่ช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับตัวเลขส่งออกปีนี้โต 4.5% จากเดิมโต 3% (คำนึงถึงการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าเงินบาทไว้แล้ว) โดยสินค้าส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น อาทิ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์, ชิ้นส่วนรถยนต์, น้ำมัน, ผลไม้สด เป็นต้น
นางสาวณัฐพร กล่าวเพิ่มว่า ประเด็นที่ต้องติดตามที่จะมีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจในระยะถัดไป มีอยู่ 2-3 เรื่องคือ 1.การกระจายวัคซีนในประเทศและแนวทางเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งตามแผนภาครัฐระยะที่ 2 การกระจายวัคซีนจำนวน 61 ล้านโดส ช่วงเดือน มิ.ย.64 และให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ หรือเฉลี่ย 10 ล้านโดสต่อเดือน
“น่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนช่วงเปิดไตรมาส 3/64″
2.ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ขยับตัวเร็ว มองกรอบราคาน้ำมันที่ 50-60 เหรียญต่อบาร์เรล เนื่องจากยังมีปัจจัยเฉพาะ เช่น พายุทำลายความเสียหายแหล่งผลิตน้ำมันของสหรัฐ ซึ่งกว่าจะเดินสายกำลังการผลิตได้ช่วงครึ่งปีหลังไปแล้ว และประชุม OPEC+ การขยายระยะเวลาปรับลดกำลังการผลิตไปจนถึงสิ้นเดือน เม.ย.64 และซาอุฯคงปรับลดกำลังการผผลิตที่ 10 ล้านบาร์เรลต่อวันเป็นเดือนที่สาม
ทั้งนี้จากราคามันปรับตัวสูงขึ้นจะเป็นแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นขยับคาดการณ์ขึ้นมาอยู่ที่ 1.1% จากสิ้นปี 63 อยู่ที่ 0.8% และถ้าราคาพลังงานขยับขึ้นเร็วท่ามกลางเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าเศรษฐกิจโลกจะเป็นภาระครัวเรือน แต่เชื่อว่าภายใต้ภาวะกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวดี ภาครัฐจะมีมาตรการช่วยบรรเทาค่าครองชีพไปได้
3.เม็ดเงินสำหรับใช้กระตุ้นเศรษฐกิจเหลือราว 3.7 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อประคองการใช้จ่ายในประเทศจนกว่าจะเริ่มทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้

หนี้เอ็นพีแอลยังน่าห่วง 1-2 ปีข้างหน้า คาดสิ้นปี’64 อยู่ที่ 3.3%

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ กล่าวต่อว่า ภาพเศรษฐกิจดูเหมือนเริ่มดีขึ้นแต่อยู่ภายใต้ความไม่แน่นอนหลายเรื่อง โดยเฉพาะภาระหนี้ครัวเรือนไทยที่จะยังค้างอยู่ในระดับสูง โดยประมาณการหนี้ครัวเรือนไทยต่อจีดีพีสิ้นปี 64 อยู่ที่ 89-91% จากไตรมาส 3/63 อยู่ที่ 86.6% ซึ่งยังเป็นช่วงขาขึ้น โดยถ้าโฟกัสหนี้ที่อยู่ภายใต้มาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 2.79 ล้านล้านบาท คิดเป็น 19.9% ของหนี้ครัวเรือนทั้งระบบ 14 ล้านล้านบาท แต่เชื่อว่าน่าจะผ่านจุดพีกไปแล้ว แต่จากความไม่แน่นอนที่ยังอยู่ ทำให้มีความจำเป็นในการต่ออายุมาตรการโดยเฉพาะลูกหนี้กลุ่มที่อยู่ในวิกฤต
โดยผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยล่าสุดชี้ว่า ครัวเรือนยังกังวลกับสถานการณ์รายได้ลด ปัญหาค่าครองชีพ และภาระหนี้สูง ประมาณ 10.8% มีภาวะทางการเงินเสี่ยงต่อวิกฤต จึงยังจำเป็นต้องมีการต่ออายุมาตรการดูแลให้กับครัวเรือนเหล่านี้ เช่น เงินช่วยเหลือ(สภาพคล่อง), การมีงานทำ, ต่ออายุมาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงินเพิ่มเติม เช่น ปรับโครงสร้างหนี้ หรือประคองหนี้ต่อไปได้, ให้ความรู้ในการแก้หนี้ ซึ่งมาตรการจะหมดในช่วงเดือน มิ.ย.64 และมองว่ายังจำเป็นต้องต่ออายุออกไป เช่นเดียวกับธุรกิจเอสเอ็มอี(SMEs) เพียงแต่มาตรการสามารถทำได้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ตามพัฒนาการของระยะหนี้ที่ขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากสถาบันการเงิน ที่น่าจะผ่านจุดที่แย่ที่สุดมาแล้วเช่นเดียวกับทิศทางเศรษฐกิจ
แต่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอีก 1-2 ปีข้างหน้า โดยมองเอ็นพีแอลปีนี้อยู่ที่ 3.3% จากสิ้นปี 63 อยู่ที่ 3.12% ยังไม่สูง เพราะอยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของแบงก์ชาติ