อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐร่วง ฉุดดอลลาร์อ่อนค่า

ดอลลาร์สหรัฐ
REUTERS/Jo Yong-Hak/File Photo

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐร่วงลง ฉุดดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ขณะที่ปัจจัยภายในยังจับตาประเด็นการเมือง ทั้งปรับครม.และการชุมนุม ก่อนที่เงินบาทจะปิดตลาดที่ระดับ 30.72/73 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 10 มีนาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 30.74/76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (9/3) ที่ระดับ 30.77/79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอ่อนตัวลง โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่มีอายุ 10 ปี ร่วงลงสู่ระดับ 1.563% ในช่วงการซื้อขายข้ามคืน ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี พุ่งทะลุระดับ 1.6% วานนี้ (9/3) หลังจากที่อยู่ต่ำกว่า 1% ในช่วงต้นปีนี้ นักลงทุนจับตาความคืบหน้าของการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ

ขณะที่แหล่งข่าวระบุว่าสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอาจทำการพิจารณาและลงมติต่อร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐของประธานาธิบดีโจ ไบเดน อย่างเร็วที่สุดได้ในวันนี้ (10/3) หากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐให้อนุมัติร่างกฎหมายฉบับนี้ จะส่งต่อไปยังประธานาธิบดีไบเดนเพื่อลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมายก่อนวันที่ 14 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่มาตรการช่วยเหลือผู้ว่างงานในปัจจุบันจะหมดอายุลง

นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐกล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐของประธานาธิบดีไบเดนจะช่วยให้รัฐบาลสหรัฐมีทรัพยากรเพียงพอในการผลักดันให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง และจะทำให้การจ้างงานของสหรัฐกลับสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ภายในปีหน้า

นอกจากนี้นักลงทุนยังจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 16-17 มีนาคม เพื่อดูท่าทีของเฟดต่อแนวโน้มการดีดตัวขึ้นของเงินเฟ้อจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ รวมทั้งการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในส่วนของข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยล่าสุดเมื่อคืนนี้

โดยสหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐ (NFIB) รายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมปรับตัวขึ้น 0.8 จุด สู่ระดับ 95.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากร่วงลงติดต่อกัน 3 เดือน โดยยังคงต่ำกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 96.5

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ยังคงต้องจับตาประเด็นทางการเมืองโดยเฉพาะการชุมนุมของกลุ่มราษฎรและกลุ่มมวลชนอื่น ๆ เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ประกอบกับพรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาล เพื่อถอดถอน 7 รัฐมนตรีภายหลังเสร็จสิ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ อดีต รมว.ศึกษาธิการ และนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในเดือนมีนาคมนี้

ขณะที่รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พรรคร่วมรัฐบาลได้ส่งรายชื่อรัฐมนตรีใหม่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อแทนตำแหน่งรัฐมนตรีที่ว่างลงในส่วน รมว.ศึกษาธิการ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ รมช.คมนาคม

โดยในส่วนพรรคพลังประชารัฐ ปรากฏชื่อนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.สิงห์บุรี และ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว สำหรับในส่วนพรรคภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ คาดว่าจะมีการสลับเก้าอี้กระทรวงคมนาคมกับกระทรวงพาณิชย์

ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.80-32.06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 30.72/73 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (10/3) ที่ระดับ 1.1893/95 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดวันอังคาร (9/3) ที่ระดับ 1.1904/06 ดอลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรเริ่มปรับตัวแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐ จากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐร่วงลง

ประกอบกับสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีรายงานวานนี้ (10/3) ว่า ยอดส่งออกเดือนมกราคมดีดตัวขึ้น 1.4% สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลง 1.2% โดยได้แรงหนุนจากการค้าระหว่างเยอรมนีและจีนที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในช่วงต้นปี 2564 ขณะที่ยอดนำเข้าเดือนมกราคมร่วงลง 4.7% ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยับลงเพียง 0.5%

ส่งผลให้ยอดเกินดุลการค้าของเยอรนีขยายตัวแตะระดับ 2.22 หมื่นล้านยูโร หรือประมาณ 2.63 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 1.58 หมื่นล้านยูโร

ขณะที่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของกลุ่มยูโรโซนถูกปรับลดเป็นหดตัว 0.7% ในไตรมาส 4/2563 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าจะหดตัว 0.6% สืบเนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกสองในภูมิภาคเมื่อช่วงปลายปีที่แล้วได้กดดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซน

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.867-1.1892 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1895/97 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (10/3) ที่ระดับ 108.56/58 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (9/3) ที่ระดับ 108.67/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเคลื่อนไหวตามสกุลเงินหลักอื่น ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.51-108.91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.66/68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.2/+0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +2/+2.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ