“ปิติ” เผยสมาคมแบงก์ชง ธปท. “โกดังเก็บหนี้” ต้นทุนเงินปล่อยกู้ต้องต่ำ

แบงก์ชาติ-BOT-เงินบาท

“ปิติ” เผยสมาคมแบงก์เสนอแนวทาง “โกดังเก็บหนี้-ซอฟต์โลน” ต่อ ธปท. ยันดอกเบี้ยต้องต่ำ-รับความเสียหายเพิ่มอุ้มลูกค้าฝ่าโควิด-19 ด้านสัญญาณลูกหนี้เหลือแค่ 1% ขอเข้ามาตรการช่วยเหลือ

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบี เปิดเผยความคืบหน้าโครงการ “โกดังเก็บหนี้” หรือ Asset Warehousing ว่า ตอนนี้สมาคมธนาคารไทย (TBA) และธนาคารสมาชิกได้ข้อสรุปและนำเสนอไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อพิจารณาต่อไป

โดยแนวทางที่เสนอต่อ ธปท.จะมีอยู่ด้วยกัน 2 เรื่องหลัก ๆ คือ 1.Asset Warehousing วงเงินการทำโกดังเก็บหนี้จะต้องมีต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากธนาคารมีภาระทางด้านค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้กับผู้ฝากเงิน ดังนั้น การทำโกดังเก็บหนี้จะต้องมีต้นทุนที่ต่ำ และผู้ประกอบการจะต้องนำทรัพย์มาทำลักษณะขายฝาก หากสถานการณ์ธุรกิจกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น ผู้ประกอบการก็สามารถซื้อกิจการคืนจากธนาคารได้ โดยอาจจะคิดค่าเช่า เช่น 1% เพื่อให้ธนาคารสามารถบริหารจัดการได้

ปิติ ตัณฑเกษม

“เงินที่ธนาคารจะนำมาทำ Warehousing Loan จะต้องมีต้นทุนที่ต่ำ และมาจากสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ที่ได้มาจาก ธปท. ซึ่งไม่รู้ว่าวงเงินเท่าไรต้องรอทาง ธปท.อนุมัติ”

และ 2.วงเงินซอฟต์โลนก้อนใหม่ จะต้องมีหลักเกณฑ์ที่ผ่อนคลายมากขึ้น และลดอุปสรรคข้อจำกัดเดิม เช่น วงเงินมากขึ้น ระยะเวลาคืนหนี้จะยาวขึ้นจากเดิมกำหนดเพียง 2 ปี และการการันตี (รับความเสียหาย) จะต้องเพิ่มขึ้น เพื่อให้ธนาคารกล้าปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยวงเงินซอฟต์โลนนี้จะเป็นวงเงินใหม่ ไม่ใช่ก้อนเดียวกับวงเงินเก่า

“ตอนนี้สมาคมแบงก์เสนอเรื่องไปยัง ธปท.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว กระบวนการถัดไปจะต้องรอให้ ธปท.นำเสนอเรื่องให้กระทรวงการคลัง และ บสย.พิจารณา ก่อนจะนำเข้า ครม.ในระยะถัดไป”


สำหรับสถานการณ์ลูกค้าของธนาคารกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ปรับตัวเริ่มดีขึ้น สะท้อนจากตัวเลขลูกค้าที่ขอเข้ามาตรการช่วยเหลือปรับลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยปรับลงถึง 40 เท่า จากเดิมมีลูกหนี้ขอเข้ามาตรการช่วยเหลือประมาณ 40% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด เหลือเพียง 1% กว่า ๆ โดยส่วนใหญ่เป็นลูกค้ากลุ่มเดิมที่เคยพักหนี้ และออกมาแล้ว แต่ก็โดนผลกระทบระลอกใหม่