ดอลลาร์อ่อนค่า หลังตัวเลขเงินเฟ้อต่ำกว่าคาด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 17 กรกฎาคม 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/7) ที่ 33.72/74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (14/7) ที่ระดับ 33.86/87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (14/7) กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือน มิ.ย. ออกมาทรงตัว สวนททางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI ปรับตัวขึ้น 1.6% ในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2559 ทั้งนี้ ข้อมูล CPI ล่าสุดบ่งชี้ถึงอัตราเงินเฟ้อในระดับต่ำของสหรัฐ และอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 3 ในปีนี้หลังจากปรับขึ้นไปแล้วในเดือน มี.ค. และ มิ.ย. นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดค้าปลีกในเดือน มิ.ย. ปรับตัวลดลง 0.2% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 2 และสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1% ในขณะที่เฟด ได้เปิดเผย ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน มิ.ย.ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.4% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 0.3% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนก่อนหน้า ส่วนผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 93.1 ในเดือน ก.ค. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 95 ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.70-33.74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.71/72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (14/7) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงรายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือน มิ.ย. 2560 ว่า เศรษฐกิจไทยล่าสุดมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่สำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่ง ธปท.คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3.5% และ 3.7% ในปี 2560 และปี 2561 ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าประมาณการครั้งก่อน โดยนโยบายการเงินยังอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (17/7) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1466/68 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (14/7) ที่ระดับ 1.1413/15 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (14/7) สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป เปิดเผย ตัวเลขดุลการค้าของยูโรโซนประจำเดือน พ.ค. โดยเกินดุล 19.7 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่เกินดุล 18.6 พันล้านยูโร แต่เกินดุลน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 20.3 พันล้านยูโร ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1433-1.1474 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1447/50 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนในวันนี้ (17/7) เปิดตลาดที่ระดับ 112.55/57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (14/7) ที่ระดับ 113.20/22 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (14/7) กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ได้ปรับลดตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรม ประจำเดือน พ.ค. เป็นลดลง 3.6% จากตัวเลขก่อนหน้าที่ลดลง 3.3% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 112.37-112.76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 112.52/53 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในช่วงต้นสัปดาห์นี้ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคของยูโรโซน (17/7) ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐ (17/7) ดัชนีราคาผู้บริโภคของนิวซีแลนด์ (17/7) ดัชนีราคาผู้บริโภคของอังกฤษ (18/7) ตัวเลขใบอนุญาตสร้างบ้านของสหรัฐ (19/7) ตัวเลขยอดสร้างบ้านใหม่ของสหรัฐ (19/7) อัตราการว่างงานของออสเตรเลีย (19/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap Point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.4/-0.1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.5/+0.1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat