โอกาสธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ โตสวนกระแส !

คอลัมน์ Smart SMEs
ชัยยศ ตันพิสุทธิ์
ธนาคารกสิกรไทย

อย่างที่ทราบกันแล้วว่าการระบาดของโควิด-19 ทำให้พวกเราต้องใช้ชีวิตแบบเว้นระยะห่างทางสังคม ส่งผลให้การบริโภคเครื่องดื่มนอกบ้าน (out-of-home) ปรับตัวลดลงตามไปด้วย ทั้งจากมาตรการควบคุมโรค รวมถึงการระมัดระวังในการใช้ชีวิตประจำวัน และกำลังซื้อที่ลดลงของผู้บริโภค ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดเครื่องดื่มนอกบ้าน โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์พอสมควร

แต่สำหรับตลาดเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (nonalcoholic beverage) แบบพร้อมดื่มยังมีความน่าสนใจอยู่ครับ โดยในปี 2564 คาดว่าตลาดนี้น่าจะมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 1.97-1.99 แสนล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 0.5-1.5% จากปี 2563 จะเห็นว่ายังสามารถเติบโตต่อไปได้ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ตกสะเก็ดจากโรคระบาด

แต่นั่นก็ทำให้การแข่งขันในตลาดมีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดและกำลังซื้อจากผู้บริโภค สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถปรับกลยุทธ์เพื่อต่อสู้ให้ยืนหยัดอยู่ในเกมได้ ดังนี้

1.เพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยการหาช่องว่างจากเครื่องดื่มดั้งเดิม เช่น น้ำผสมวิตามินที่ตอบโจทย์เทรนด์ฟังก์ชั่นนอลดริงก์ มีการเติมสารอาหาร/วิตามิน แต่มีรสชาติไม่แตกต่างจากน้ำดื่มและให้พลังงานต่ำ ซึ่งแตกต่างจากเครื่องดื่มฟังก์ชั่นนอลดริงก์ในช่วงแรกที่มีการแต่งกลิ่นแต่งรสชาติรวมถึงเครื่องดื่มวิตามินต่าง ๆ เพื่อทดแทนวิตามินจากอาหารได้บางส่วน

2.เพิ่มประเภทสินค้าที่ตอบโจทย์ตลาดเฉพาะกลุ่ม (niche market) เช่น กาแฟสำเร็จรูป specialty อย่างกาแฟ Cold Brew กาแฟจากเมล็ดพันธุ์พิเศษ โดยคาดว่าตลาดที่มีความต้องการเฉพาะเช่นนี้จะสามารถเติบโตได้ดีกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของตลาด mass ทั่วไป เนื่องจากมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น ถึงแม้จะมีส่วนแบ่งตลาดน้อยกว่า แต่มีโอกาสที่จะเพิ่มส่วนแบ่งได้ในระยะยาว โดยมีปัจจัยด้านความต้องการของผู้บริโภคเป็นตัวขับเคลื่อนทิศทางของตลาด

3.หันมาเน้นเจาะตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ เช่น เครื่องดื่มชูกำลังรสชาติใหม่และปรับเปลี่ยนรูปแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่แตกต่างจากเดิม ให้คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงได้มากขึ้น รวมถึงเครื่องดื่มเกลือแร่ที่หันมาเน้นภาพลักษณ์ที่ไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มผู้เล่นกีฬา แต่ขยายฐานลูกค้าไปสู่ลูกค้าทุกกลุ่มที่มี active lifestyle

โดยมีความท้าทายที่อาจกระทบกับธุรกิจ ได้แก่ การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มตามปริมาณน้ำตาล และแนวโน้มการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมซึ่งอาจส่งผลต่อต้นทุนของธุรกิจ

นอกจากนี้ ปัจจัยเรื่องกำลังซื้อที่มีอยู่อย่างจำกัดของผู้บริโภคยังเป็นความท้าทายหลักที่เป็นตัวกำหนดทิศทางของธุรกิจ ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องมีการปรับเปลี่ยนช่องทางการจัดจำหน่าย โดยเพิ่มช่องทางออนไลน์ควบคู่ไปกับบริการจัดส่งถึงบ้าน รวมถึงการจัดแคมเปญเพื่อรักษาฐานลูกค้าและสร้าง brand loyalty ไว้ในระยะนี้ครับ