หุ้นอิง “กัญชง-กัญชา” ราคาเด้ง ตลท.จับตาธุรกิจให้ข้อมูลนักลงทุน

กัญชา

การปลดล็อก “กัญชง-กัญชา” ของภาครัฐ จุดกระแสความสนใจไปทุกหย่อมย่าน บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (บจ.) หลายแห่ง ประกาศจะต่อยอดธุรกิจจากพืชชนิดนี้กันอย่างคึกคัก

รวมถึงส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นที่เกี่ยวข้องด้วย (ดูตาราง) ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีผู้บริหารบาง บจ. ที่มีการปั่นกระแสผ่านโซเชียลมีเดีย จนมีการมองกันว่า อาจจะเข้าข่ายจงใจปั่นราคาหุ้น

3 กลุ่มธุรกิจอิง “กัญชง-กัญชา”

โดย “หมิ่นหลิง หวัง” นักวิเคราะห์หลักทรัพย์กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย ฉายภาพว่า หลังจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เริ่มเปิดให้ใบอนุญาตปลูกกัญชา นำเข้า

รวมทั้งการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ ส่งผลให้ 3 กลุ่มธุรกิจจะได้รับอานิสงส์ คือ 1.กลุ่มต้นน้ำ หรือขั้นตอนการปลูก 2.กลุ่มกลางน้ำ การสกัดเป็นสารประเภทต่าง ๆ อาทิ น้ำมันในเมล็ดกัญชง, สารสกัด CBD จากช่อดอกกัญชง และ 3.กลุ่มปลายน้ำ หรือการนำสารสกัดไปเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาออกมาจำหน่าย

โดยหุ้นที่ บล.กสิกรไทยรับผิดชอบ (cover) ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจต้นน้ำ ได้แก่ บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) และ บมจ.อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย (RBF) ซึ่งประกาศจะปลูกกัญชา แต่สำหรับ RBF น่าจะเป็นการปลูกเพื่อทดลองคุณภาพเท่านั้น เพื่อจะสื่อสารกับเกษตรกรได้เข้าใจเวลารับซื้อ เพราะ RBF น่าจะมุ่งไปทำธุรกิจกลางน้ำมากกว่า

ขณะที่ธุรกิจกลางน้ำ หรือโรงงานสกัดสาร CBD ในไทย คาดว่าน่าจะมีประมาณ 10 โรงงาน อาทิ RBF, บมจ.ดีโอดี ไบโอเทค (DOD), บมจ.เค. ดับบลิว. เม็ททัล เวิร์ค (KWM)

ธุรกิจปลายน้ำมากสุด

ส่วนธุรกิจปลายน้ำจะมีบริษัทเข้าข่ายจำนวนมาก ซึ่งแบ่งย่อยออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มอาหาร (ร้านอาหาร, ขนมขบเคี้ยว) อาทิ บมจ.เอ็มเคเรสโตรองต์ กรุ๊ป (M), บมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น (ZEN) โดย ZEN

ซึ่งมีธุรกิจค้าปลีกอยู่ด้วย เช่น น้ำปลาร้า เป็นต้นซึ่งคาดว่าอาจจะมีการออกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมกัญชงในน้ำปลาร้าออกมาขาย ขณะที่ บมจ.เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง (TKN) ก็มีแนวโน้มจะทำขนมขบเคี้ยวที่มีส่วนผสมกัญชงออกมา

2.กลุ่มเครื่องดื่ม คาดว่า บจ.ในตลาดหุ้นไทยสนใจเกือบทุกราย อย่าง บมจ.คาราวบาวกรุ๊ป (CBG), บมจ.โอสถสภา(OSP), บมจ.เซปเป้ (SAPPE) ที่บริษัทรับผิดชอบอยู่ ก็ได้รับข้อมูลว่า กำลังศึกษาเรื่องนี้กันอยู่

โดย CBG มีแนวโน้มจะทำเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของสาร CBD ออกมาได้เร็ว และ 3.กลุ่มอาหารเสริม ก็มี บมจ.เมก้า ไลฟ์ไซเอ็นซ์ (MEGA) ที่น่าจะทำอาหารเสริมที่มีส่วนผสมสาร CBD ออกมา

“ประเมินว่า กลุ่มอาหารเสริมและเครื่องสำอาง น่าจะเป็นธุรกิจที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด เพราะเห็นสรรพคุณชัดเจนที่สุด แต่ตัวผลิตภัณฑ์จะออกมาช้า เนื่องจากมีความยาก กว่าจะขอไลเซนส์ได้” นางสาวหมิ่นหลิงกล่าว

ประเมินกำไรหุ้นยาก

“หมิ่นหลิง” กล่าวว่า การประเมินกำไรของหุ้นที่ทำธุรกิจกัญชาและกัญชงในขณะนี้ยังค่อนข้างยาก โดยธุรกิจต้นน้ำก็ยังไม่แน่ใจราคาขาย แม้มีข่าวว่า ช่อดอกแห้งราคา 30,000-50,000 บาทต่อกิโลกรัม

แต่ส่วนใหญ่เป็นส่วนที่ขายให้กับกลุ่มการแพทย์ ซึ่งในตลาดน่าจะเป็นเกรดอุตสาหกรรม ทำให้ราคาจะต่ำลงมา แต่จะขึ้นอยู่กับผลผลิตด้วย เช่น 1 ช่อดอก จะได้สาร CBD เท่าไหร่ เป็นต้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทได้ประมาณการกำไรเฉพาะหุ้น RBF บนสมมุติฐานปลูกกัญชาได้ 100-200 ไร่ ประเมินว่าอัพไซด์กำไรปี 2564 น่าจะอยู่ที่ราว 15-29% ส่วนหุ้นอื่น ๆ ต้องรอความคืบหน้าการพัฒนาธุรกิจที่ชัดขึ้น

หรือราวปลายไตรมาส 2 หรือต้นไตรมาส 3 ปีนี้หลังจากที่แต่ละบริษัทเริ่มทยอยได้รับไลเซนส์จาก อย. ซึ่งจะเริ่มเห็นผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการปลูกและสกัดได้รับไลเซนส์ก่อนในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้

“จากการประเมินอัพไซด์กำไรของ RBF จะอยู่ประมาณ 1 ล้านบาท ต่อ 1 ไร่ ซึ่งมาจากการสกัดสาร CBD ในราคาขายราว 100,000 แสนบาทต่อกิโลกรัม โดยประเมินการปลูก 1 ไร่ ต่อปริมาณสาร CBD 25 กิโลกรัม

ซึ่งคาดจะให้กำไรขั้นต้นประมาณ 70% อย่างไรก็ดี เนื่องจากรัฐบาลยังจำกัดการนำเข้า จึงต้องใช้ผลผลิตจากภายในประเทศเท่านั้น ดังนั้น สาร CBD จะค่อนข้างจำกัดมาก จึงมีโอกาสที่ราคา อาจจะแพงกว่าตลาดโลกได้” นางสาวหมิ่นหลิงกล่าว

ส่วนธุรกิจปลายน้ำ “หมิ่นหลิง” บอกว่า ยังประเมินค่อนข้างยาก อย่างกลุ่มเครื่องดื่มที่ยังจะไม่ชัดเจน ว่าจะเป็นเครื่องดื่มประเภทใดบ้าง และปริมาณการขายจะเป็นเท่าใด เพราะจะขึ้นอยู่กับกำลังการผลิตและราคาขายเริ่มต้นด้วย

จับตา บจ.ให้ข้อมูลกระทบราคา

นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานการตลาดผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ตลท.เน้นย้ำนักลงทุนว่า ต้องพิจารณาข้อมูลที่แต่ละ บจ.นำเสนอ

โดยตามปกติแล้วเวลา บจ.จะลงทุนอะไรที่มีนัยสำคัญ ก็จะต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท และหลังจากนั้นต้องส่งรายงาน ตลท. ทั้งนี้ หากมีข้อมูลที่ส่งผลต่อราคาหุ้นที่ซื้อขาย ทางฝ่ายกำกับของตลาดหลักทรัพย์ฯจะให้บริษัทที่เกี่ยวข้องชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งแนวทางปฏิบัติดังกล่าว ไม่เฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับกัญชงกัญชาเท่านั้น แต่รวมถึงธุรกิจอื่น ๆ ด้วย

“ในแง่การลงทุน ปกติแล้วตลาดหลักทรัพย์ฯจะแนะนำนักลงทุนว่า ควรจะต้องพิจารณาถึงนัยสำคัญของตัวธุรกิจของบริษัทนั้น ๆ ซึ่งหากมีการให้ข้อมูลที่เป็นนัยสำคัญต่อการดำเนินงาน เช่น เป็นธุรกิจใหม่

หรือเป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนสูง ๆ จำเป็นต้องชี้แจงหรือเปิดเผยข้อมูลส่งมาให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ และหากมีนัยสำคัญต่อราคาหุ้น ฝ่ายกำกับ ก็จะให้บริษัทเหล่านั้นชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม” นายแมนพงศ์กล่าว

สุดท้ายแล้ว การจะลงทุนหุ้นตัวใดก็ตาม นักลงทุนคงต้องพิจารณาปัจจัยพื้นฐานของบริษัทนั้น ๆ ให้ดี ไม่ใช่แห่ตามกระแสอย่างเดียว เพราะอาจจะเจ็บตัวได้ แต่หากพร้อมรับความเสี่ยง ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง