Q3 แบงก์รวยค่าฟี 4.3 หมื่นล. แห่โกยรายได้บริหารกองทุน-ลูกค้าเวลท์

เจาะ 10 แบงก์โกยรายได้ค่าฟีเพิ่ม 7.58% ในไตรมาส 3/2560 ขณะที่ 9 เดือนพุ่ง 7.94% เผย “TMB-CIMBT” โตกระฉูดเกิน 20% ทั้งไตรมาส 3 และภาพรวม 9 เดือน ศูนย์วิจัยกสิกรชี้ส่วนใหญ่แบงก์มีรายได้เพิ่มจากการบริหารกองทุน-ดูแลลูกค้ากลุ่มเวลท์ “บุญทักษ์” ระบุรายได้เพิ่มจาก “ขายกองทุน-แบงก์แอสชัวรันซ์”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ได้มีการประกาศผลประกอบการไตรมาส 3/2560 ออกมา ซึ่งเมื่อเข้าไปดูตัวเลขรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิของธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง คือ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารทหารไทย (TMB) ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) ธนาคารธนชาต (TBANK) ธนาคารทิสโก้ (TISCO) และธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) พบว่าเฉพาะในไตรมาส 3 ทั้ง 10 แห่งมีรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิรวมกันอยู่ที่ 43,283 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.58% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่ที่ 40,233 ล้านบาท

โดยแบงก์ที่มีรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ (รายได้ค่าฟี) เพิ่มสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.TMB เพิ่มขึ้น 37.22% 2.CIMBT เพิ่มขึ้น 20.08% และ 3.KKP เพิ่มขึ้น 15.6%

ส่วนในช่วง 9 เดือน พบว่ารายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิของ 10 แบงก์รวมกันเติบโตที่ 7.94% โดยอยู่ที่ 125,034 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวมกันที่ 115,833 ล้านบาท ซึ่งแบงก์ที่มีรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเติบโตมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.TMB เพิ่มขึ้น 32.11% 2.CIMBT เพิ่มขึ้น 20.96% และ TISCO เติบโต 9.19%

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ภาพรวมรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการของ 10 แบงก์ที่ออกมาในไตรมาส 3/2560 ถือว่าปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมาก โดยเป็นการปรับขึ้นเกือบทุกแบงก์ ซึ่งปัจจัยหลัก ๆ มาจากการปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น และการที่แบงก์มีรายได้จากการบริหารจัดการกองทุนเพิ่มขึ้น ตามธุรกรรมการซื้อขายหุ้น กองทุนที่เติบโตดีขึ้น รวมถึงรายได้จากการบริหารความมั่งคั่งให้กับลูกค้ากลุ่มเวลท์ที่เพิ่มขึ้น

“รายได้ค่าฟีที่โตขึ้นมาจากหลายส่วน ทั้งจากสินเชื่อที่เริ่มปล่อยได้มากขึ้น แต่หลัก ๆ ที่เห็นทุกแบงก์มีค่าฟีเพิ่มขึ้นจากการบริหารกองทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ เช่าซื้อ หรือที่เกี่ยวกับเวลท์ พวกนี้ตัวหลัก ๆ ที่ทำให้รายได้ค่าฟีเพิ่ม” นายเชาว์กล่าว

นายเชาว์กล่าวด้วยว่า สำหรับการโอนเงินพร้อมเพย์ ยังกระทบต่อแบงก์ค่อนข้างน้อยในปีนี้ เพราะยังมีสัดส่วนการโอนเงินราว 10% เท่านั้น เมื่อเทียบกับการโอนเงินรายย่อยข้ามธนาคาร (ORFT) ที่มีมูลค่าการโอนเงินต่อปีอยู่ที่ 300 ล้านรายการ อย่างไรก็ตาม ในอนาคตการโอนเงินผ่านพร้อมเพย์จะกระทบแบงก์มากขึ้นเรื่อย ๆ ตามจำนวนผู้ใช้งานที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอนาคต และจะส่งผลต่อรายได้ค่าฟีอย่างมีนัยสำคัญ

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน กล่าวว่า รายได้ค่าฟีของธนาคารในไตรมาส 3 ที่ผ่านมาเติบโตได้ต่อเนื่อง ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจหลัก เช่น การบริหารกองทุน การเป็นโบรกเกอร์ การบริหารลูกค้ากลุ่มเวลท์ ส่วนพร้อมเพย์ไม่กระทบกับธนาคาร เพราะไม่ได้เน้นธุรกิจการชำระเงิน (เพย์เมนต์)

“รายได้เรามาจากการเป็นผู้ขายกองทุน จากกลุ่มเวลท์ เป็นหลัก และในอนาคตค่าฟีก็ยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นได้อีกตามการเติบโตของกองทุน หรือลูกค้าในกลุ่มเวลท์ที่จะขยายตัวมากขึ้นในอนาคต” นายอภินันท์กล่าว

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยกล่าวว่า รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยของธนาคารเติบโตจากรายได้ค่าธรรมเนียมรายย่อยเป็นหลัก โดยในไตรมาส 3 ธนาคารมีรายได้ค่าฟีเพิ่มขึ้น 37.22% ปัจจัยหลักมาจากการขายกองทุนรวมและขายประกันผ่านแบงก์ (แบงก์แอสชัวรันซ์) ที่ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2560 และเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน ซึ่งในกรณีแบงก์แอสชัวรันซ์นั้น ใช้ช่องทางการให้บริการของธนาคาร (access fee) ที่ร่วมมือกับ บมจ.เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต (FWD) ซึ่งจะรับรู้รายได้เป็นเวลา 15 ปี และช่วยเพิ่มฐานรายได้ค่าธรรมเนียมแบงก์แอสชัวรันซ์เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนผลกระทบจากพร้อมเพย์ไม่กระทบกับ TMB มาก เนื่องจากเดิมแบงก์ไม่เก็บค่าธรรมเนียมโอนเงินอยู่แล้ว


“พร้อมเพย์ที่จะมีผลกระทบบ้างก็คือยอดสมัครลูกค้าลดลง เช่น ถ้าไม่มีพร้อมเพย์จะได้ลูกค้า 1 แสนรายต่อเดือน ปัจจุบันลูกค้าใหม่ลดเหลือ 5 หมื่นรายต่อเดือน” นายบุญทักษ์กล่าว