ตลาดยังไร้ปัจจัยใหม่ รอติดตามการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ

ค่าเงินบาท-ดอลลาร์สหรัฐ

ตลาดยังไร้ปัจจัยใหม่ รอติดตามการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ 16-17 มีนาคมนี้ เพื่อหาสัญญาณเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยในอนาคต ด้านรมว.คลังสหรัฐชี้ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 30.70/72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 15 มีนาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/3) ที่ระดับ 30.66/68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (12/3) ที่ระดับ 30.77/78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์ลดแรงบวกลงเมื่อเทียบกับสกุลหลัก ถึงแม้ว่าเมื่อคืนวันศุกร์ (12/3) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ได้ขึ้นไปสูงสุดในรอบ 10 ปีที่ระดับ 1.635%

ทางด้านนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ได้กล่าวให้สัมภาษณ์กับรายการ “This Week” ของสถานีโทรทัศน์ ABC ว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่เกิดจากการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์นั้นจะอยู่ในระดับต่ำและสามารถควบคุมได้ เนื่องจากเม็ดเงินจากมาตรการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

และผลที่เกิดขึ้นจะปรากฏให้เห็นในรูปของการจ้างงานที่มีการขยายตัวอย่างเต็มศักยภาพ โดยคำกล่าวนี้ได้ลดความกังวลของตลาดในเรื่องอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในอนาคตลงได้

อย่างไรก็ดีตลาดจับตาการประชุมของธนาคารสหรัฐในวันที่ 16-17 มีนาคมนี้ เพื่อหาสัญญาณเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยในอนาคตและมุมมองต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรอย่างใกล้ชิด

สำหรับตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่ได้เปิดเผยในคืนวันศุกร์ (12/3) กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต เพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากพุ่งขึ้น 1.3% ในเดือนมกราคม

ส่วนมหาวิทยาลัยมิชิแกนได้เปิดเผยผลสำรวจระบุว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐ เพิ่มขึ้นแตะระดับ 83.0 ในเดือนมีนาม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี จากระดับ 76.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 78.5

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.67-78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.70/72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/3) ที่ระดับ 1.1965/69 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (12/3) ที่ระดับ 1.1914/16 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยในวันศุกร์ที่ผ่านมา (12/3) สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรปได้เปิดเผยรายงานการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซนเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนมกราคมเมื่อเทียบรายเดือน และสูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะเพิ่ม 0.2%

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซนได้รับแรงหนุนจากการที่รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1916-1.1967 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1934/37 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/3) ที่ระดับ 108.91/94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (12/3) ที่ระดับ 109.09/11 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเริ่มทรงตัว หลังจากที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเริ่มทรงตัวมากขึ้น

ทั้งนี้ตลาดรอจับตาผลการประชุมนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นในวันศุกร์นี้ (19/3) ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.90-109.36 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.07/09 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลิตผลภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เดือนมกราคม (16/3), ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเยอรมนี โดยสถาบัน ZEW เดือนมีนาคม (16/3), ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจยูโรโซนโดยสถาบัน ZEW เดือนมีนาคม (16/3), ยอดค้าปลีกของสหรัฐเดือนกุมภาพันธ์ (16/3), ผลิตผลภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ (16/3), ยอดส่งออกของญี่ปุ่น เดือนกุมภาพันธ์ (17/3),

ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซนเดือนกุมภาพันธ์ (17/3), ยอดอนุมัติการสร้างบ้านของสหรัฐ (17/3), ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (18/3), ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหราชอาณาจักร (18/3), จำนวนผู้รับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐ (18/3), ดัชนีราคาผู้บริโภคของญี่ปุ่น เดือนกุมภาพันธ์ (19/3), ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (19/3), ดัชนีราคาผู้ผลิตของเยอรมนี (19/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.25/0.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 2.8/3.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ