รื้อดอกเบี้ยกู้-ผิดนัดชำระหนี้ แก้ ปม.แพ่งฯ หลังบังคับใช้ 90 ปี (จบ)

แบงก์ชาติ-BOT-เงินบาท
คอลัมน์ นอกรอบ
พิเชษฐ์ ณ นคร

ฉบับนี้เริ่มด้วยกรณีตัวอย่างการคิดดอกเบี้ยและดอกเบี้ยผิดนัดจากการปรับแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อจากฉบับที่แล้ว ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาหยิบยกกรณีตัวอย่างมาอธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นดังนี้

จำนวนดอกเบี้ยที่ นาย ข. ต้องส่งใช้ให้บริษัท ก. ตามร่างบทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติม หากอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศในวันที่ 1 มกราคม 2564 เท่ากับร้อยละ 1.49 ต่อปี เมื่อนาย ข. ส่งใช้เงินค่าหุ้นให้บริษัท ก. ครบถ้วน ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 นาย ข. จะต้องส่งใช้เงินค่าหุ้นจำนวน 100,000 บาท บวกด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.49 ต่อปี เมื่อนาย ข. ส่งใช้เงินค่าหุ้นล่าช้าไป 61 วัน จึงต้องเสียดอกเบี้ยในเงินค่าหุ้นดังกล่าวรวมจำนวน 249 บาท

2.มาตรา ๒๒๔ อัตราดอกเบี้ยผิดนัด บทบัญญัติปัจจุบัน มาตรา ๒๒๔ หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด การพิสูจน์ค่าเสียหายอย่างอื่นนอกกว่านั้น ท่านอนุญาตให้พิสูจน์ได้

ร่างบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๒๒๔ หนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตามมาตรา ๗ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสามต่อปี แต่เมื่อรวมแล้วต้องไม่เกินอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี

ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด การพิสูจน์ค่าเสียหายอย่างอื่นนอกจากนั้น ให้พิสูจน์ได้

กรณีที่ 1 อัตราดอกเบี้ยผิดนัดจากการทำนิติกรรม ตัวอย่าง นาย ก. ตกลงกู้เงินจากนาย ข. 100,000 บาท เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 กำหนดเวลาชำระคืนในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี แต่ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดไว้ในสัญญา จำนวนดอกเบี้ยผิดนัดที่ นาย ก. ต้องเสียให้นาย ข. ตามบทบัญญัติปัจจุบัน หากนาย ก. ชำระหนี้ให้นาย ข. ในวันที่ 31 ธันวาคม 2565 นาย ข. อาจเรียกดอกเบี้ยผิดนัดจากนาย ก. ได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี

รวมจำนวนดอกเบี้ยผิดนัดทั้งสิ้น 7,500 บาท จำนวนดอกเบี้ยผิดนัดที่นาย ก. ต้องเสียให้นาย ข. ตามร่างบทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติม หากอัตราดอกเบี้ยตามมาตรา ๗ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศในวันที่ 1 มกราคม 2565 เท่ากับร้อยละ 1.50 ต่อปี อัตราดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 จะเท่ากับร้อยละ 4.50 ต่อปี (ร้อยละ 1.50 ต่อปี บวกด้วยอัตราเพิ่มอีกร้อยละ 3 ต่อปี)

และหากอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เท่ากับร้อยละ 1.55 ต่อปี อัตราดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จะเท่ากับร้อยละ 4.55 ต่อปี (ร้อยละ 1.55 ต่อปี บวกด้วยอัตราเพิ่มอีกร้อยละ 3 ต่อปี) เมื่อนาย ก. ชำระหนี้ให้นาย ข. ในวันที่ 31 ธันวาคม 2565 นาย ข. อาจเรียกดอกเบี้ยผิดนัดจากนาย ก. ได้ในอัตราดังนี้

1) อัตราดอกเบี้ยผิดนัดระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 (181 วัน) ร้อยละ 4.50 ต่อปี เท่ากับ 2,232 บาท

2) อัตราดอกเบี้ยผิดนัดระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 (184 วัน) ร้อยละ 4.55 ต่อปี เท่ากับ 2,294 บาท

3) รวมจำนวนดอกเบี้ยผิดนัดทั้งสิ้น 4,526 บาท

กรณีที่ 2 อัตราดอกเบี้ยผิดนัดจากการทำละเมิด ตัวอย่าง นาย ก. ขับรถยนต์ชนรถจักรยานยนต์ที่นาย ข. เป็นผู้ขับขี่ ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ส่งผลให้นาย ข. ได้รับบาดเจ็บและรถจักรยานยนต์เสียหาย นาย ข. จึงยื่นฟ้องคดีต่อศาล และศาลมีคำพิพาษาในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ให้ นาย ก. ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับนาย ข. จำนวน 100,000 บาท ซึ่งมาตรา ๒๐๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดให้ ในกรณีหนี้อันเกิดจากมูลละเมิด ลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่เวลาที่ทำละเมิด

จำนวนดอกเบี้ยผิดนัดที่ นาย ก. ต้องเสียให้นาย ข. ตามบทบัญญัติปัจจุบัน หากนาย ก. ใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษาให้กับนาย ข. ในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 นาย ก. จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้นาย ข. 100,000 บาท บวกด้วยดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ซึ่งนับจากวันที่มีการทำละเมิดถึงวันที่มีการใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นระยะเวลา 1 ปี

นาย ก. จึงต้องเสียดอกเบี้ยผิดนัดให้นาย ข. เป็นจำนวนทั้งสิ้น 7,500 บาท จำนวนดอกเบี้ยผิดนัดที่ นาย ก. ต้องเสียให้นาย ข. ตามร่างบทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติม หากอัตราดอกเบี้ยผิดนัดระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เท่ากับร้อยละ 4.50 ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยผิดนัดระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 เท่ากับร้อยละ 4.60 ต่อปี และนาย ก. ใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษา ให้นาย ข. ในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 นาย ก. จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้นาย ข.100,000 บาท บวกด้วยดอกเบี้ยผิดนัด ดังนี้

1) อัตราดอกเบี้ยระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 (184 วัน) ร้อยละ 4.50 ต่อปี เท่ากับ 2,268 บาท

2) อัตราดอกเบี้ยผิดนัดระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 (181 วัน) ร้อยละ 4.60 ต่อปี เท่ากับ 2,281 บาท

3) รวมจำนวนดอกเบี้ยผิดนัดทั้งสิ้น 4,549 บาท

3.มาตรา ๒๒๔/๑ การคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดในหนี้ที่เจ้าหนี้กำหนดให้ลูกหนี้ผ่อนชำระเป็นงวด ร่างบทบัญญัติเพิ่มเติม มาตรา ๒๒๔/๑ ถ้าลูกหนี้มีหน้าที่ผ่อนชำระหนี้เงินเป็นงวด และลูกหนี้ผิดนัด ไม่ชำระหนี้ในงวดใด เจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดได้เฉพาะจากเงินต้นของงวดที่ลูกหนี้ผิดนัดนั้น

ข้อตกลงใดขัดกับความในวรรคหนึ่ง ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ ตัวอย่าง นาย ก. ตกลงกู้เงินจากนาย ข. 1,200,000 บาท มีกำหนดชำระคืนในระยะเวลา 1 ปี โดยผ่อนชำระเป็น 12 งวด งวดละ 100,000 บาท และกำหนดดอกเบี้ยตามสัญญาในอัตรา ร้อยละ 8 ต่อปี และหากมีการผิดนัดชำระหนี้ให้เสียดอกเบี้ยผิดนัดเพิ่มอีกร้อยละ 4 ต่อปี

นอกจากนี้มีข้อกำหนดในสัญญาว่า หากนาย ก. ผิดนัดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่ง ให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดของงวดนั้น จากฐานเงินต้นที่ยังค้างชำระทั้งหมด นาย ก. ผ่อนชำระเงินกู้งวดที่ 1 ถึงงวดที่ 4 ตามกำหนดเวลา แต่เมื่อถึงงวดที่ 5 นาย ก. ไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ จึงตกเป็นผู้ผิดนัด จำนวนดอกเบี้ยผิดนัดที่สาย นาย ก. ต้องเสียให้นาย ข. ตามกฎหมายปัจจุบัน

โดยที่ในปัจจุบันไม่มีบทบัญญัติกำหนดวิธีการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดในหนี้ที่เจ้าหนี้ กำหนดให้ลูกหนี้ผ่อนชำระเป็นงวด จำนวนดอกเบี้ยผิดนัดที่นาย ก. ต้องเสียให้นาย ข. จึงเป็นไปตาม สัญญาที่ตกลงกัน เมื่อนาย ก. ผิดนัดชำระหนี้งวดที่ ๕ นาย ก. จึงต้องเสียดอกเบี้ยผิดนัดส่วนเพิ่ม อีกร้อยละ 4 ต่อปี

โดยอัตราดอกเบี้ยผิดนัดส่วนเพิ่มนี้จะคิดจากฐานเงินต้นที่ นาย ก. ยังค้างชำระทั้งหมด คือ ร้อยละ 4 ของยอด 800,000 บาท ซึ่งเท่ากับ 2,630 บาท (800,000 x (4%) x 30/365) ซึ่งเมื่อรวมกับดอกเบี้ยตามสัญญาเดือนละ 8,000 บาทแล้ว นาย ก. จะต้องเสียดอกเบี้ยในงวดที่ 5 รวมทั้งสิ้น 10,630 บาท

จำนวนดอกเบี้ยผิดนัดที่ นาย ก. ต้องเสียให้นาย ข. ตามร่างบทบัญญัติเพิ่มเติม โดยที่ร่างมาตรา ๒๒๔/๑ กำหนดให้ข้อตกลงใด ๆ ที่กำหนดให้เจ้าหนี้อาจคิดดอกเบี้ย ในระหว่างเวลาผิดนัดได้จากฐานอื่นใดนอกเหนือจากฐานเงินต้นของงวดที่ลูกหนี้ผิดนัดนั้นเป็นโมฆะ ข้อกำหนดในสัญญาระหว่างนาย ก. กับนาย ข. ที่ให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดจากฐานเงินต้นที่ยังค้างชำระทั้งหมดจึงมีผลเป็นโมฆะ และนาย ข. จะคิดดอกเบี้ยผิดนัดได้จากฐานเงินต้นของงวดที่นาย ก. ผิดนัดชำระหนี้แล้วเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ เมื่อนาย ก. ผิดนัดชำระหนี้งวดที่ 5 นาย ก. จึงต้องเสียดอกเบี้ยผิดนัดส่วนเพิ่มอีกร้อยละ 4 ต่อปี เฉพาะจากฐานเงินต้นของงวดที่ผิดนัดแล้วนั้น คือ ร้อยละ 4 ของยอดเงินต้น 100,000 บาท ที่นาย ก. ค้างชำระในงวดที่ 5 ซึ่งเท่ากับ 329 บาท (100,000 x (4%) x 30/365) ซึ่งเมื่อรวมกับดอกเบี้ยตามสัญญาเดือนละ 8,000 บาทแล้ว นาย ก. จะต้องเสียดอกเบี้ยในงวดที่ 5 รวมทั้งสิ้น 8,329 บาท

ทั้งนี้ การที่นาย ข. อาจคิดดอกเบี้ยผิดนัดได้เฉพาะจากเงินต้นของงวดที่ นาย ก. ผิดนัด ตามความในร่างมาตรา ๒๒๔/๑ นั้น ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของนาย ข. จะร้องขอต่อศาล ให้บังคับให้นาย ก. ชำระหนี้ในจำนวนหนี้ที่ค้างอยู่ทั้งสิ้น ตามความในมาตรา ๒๐๔ ประกอบกับมาตรา ๒๑๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์