เพิ่มออปชั่นแบงก์จัดการหนี้ หนุน BAM ร่วมทุนตั้งบริษัทลูกรับบริหาร

หนี้บัตรเครดิต

BAM เปิดออปชั่นใหม่บริหารหนี้ช่วยแบงก์ฝ่าวิกฤต เร่งผนึกกำลังร่วมทุน 3 ฝ่าย จัดตั้งบริษัทย่อยเอเอ็มซี “BAM junior” ขณะที่ “TMB” หนุนเอเอ็มซีเป็น “แก้มลิงเก็บหนี้เสีย”ป้องกันทะลักเข้าระบบ ฟาก “ชโย กรุ๊ป” ลั่นสนใจร่วมทุนหาก BAM เปิดโอกาส

นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เปิดเผยว่า ตอนนี้บริษัทกำลังศึกษาแนวทางการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน (joint venture) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางการบริหารจัดการหนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มท่องเที่ยวหรือเซ็กเตอร์อื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 นอกเหนือจากวิธีการจัดการแบบ “โกดังเก็บหนี้” หรือ asset warehousing ที่ผู้เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างหารือร่วมกันเพื่อดำเนินการ

ทั้งนี้ การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนจะประกอบด้วย 3 ฝ่าย คือ BAM, ธนาคารพาณิชย์ และคนกลาง โดยสัดส่วนถือหุ้นแต่ละรายไม่เกิน 40% ซึ่งแนวทางนี้แบงก์จะโอนทรัพย์ (หนี้) ให้บริษัทร่วมทุนรับซื้อในราคายุติธรรม (fair value) จากนั้นบริษัทร่วมทุนจะบริหารจัดการแบบเดียวกับ BAM โดยจะมีการแยกบัญชี แยกพอร์ตหรือเซ็กเตอร์อย่างชัดเจน และไม่จำเป็นต้องเป็นกลุ่มโรงแรมอย่างเดียว จะเป็นกลุ่มสายการบินหรือกลุ่มอื่น ๆ ก็สามารถทำได้

ซึ่งปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการพูดคุยกับแบงก์บางแห่งคืบหน้าไปแล้ว80% หากสามารถตกลงกันได้ก็ดำเนินการจัดตั้งบริษัท และขอใบอนุญาต (license) บริหารสินทรัพย์จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หลังจากนั้น ก็สามารถดำเนินธุรกิจได้ทันที โดยหากบริหารได้กำไรก็จะจ่ายผู้ถือหุ้นเป็นปันผล

“เรามีการพูดคุยและปรึกษา ธปท.เรื่องนี้มาต่อเนื่อง วิธีนี้จะเหมือนมี BAM junior ซึ่งเราทยอยคุยกับแบงก์ไปแล้วหลายราย โดยจะนำร่องจาก 1 แห่งก่อน โดยวิธีนี้เราไม่เคยทำมาก่อน แต่หากสำเร็จเชื่อว่าแบงก์อื่น ๆ ก็น่าจะสนใจและทยอยทำตาม” นายบัณฑิตกล่าว

ก่อนหน้านี้นายบรรยง วิเศษมงคลชัย ประธานคณะกรรมการบริหาร BAM ระบุว่า BAM อยู่ระหว่างเจรจากับแบงก์แห่งหนึ่ง เพื่อร่วมทุนตั้งบริษัทบริหารหนี้ให้กับแบงก์ดังกล่าว เพราะหากบริหารแล้วมีกำไร แบงก์ก็สามารถได้รับส่วนแบ่งจากกำไรที่เกิดขึ้น ซึ่งแตกต่างจากปกติจะขายทิ้งออกไปเลย

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารทหารไทย (TMB) กล่าวว่า แนวทางที่ BAM จะร่วมทุนกับแบงก์จัดตั้ง AMC มารับซื้อหนี้แบงก์ไปบริหารนั้น เป็นเรื่องที่ทางสมาคมธนาคารไทยได้หารือร่วมกับ ธปท. และ BAM ว่าต้องมีโครงการที่เป็นลักษณะ “แก้มลิง” ช่วยเก็บหนี้เสียไว้เพื่อไม่ให้หนี้เสียทะลักเข้าสู่ระบบจนทำให้ราคาสินทรัพย์ตกลงไปมากเกินไป และเพื่อไม่ให้มีคดีความต่าง ๆ ไปรกชั้นศาลเป็นจำนวนมากอีกด้วย

ดังนั้น นอกเหนือจากแนวทาง asset warehousing ก็จะมีโมเดลการร่วมทุนนี้ด้วย ซึ่ง BAM จะไปจับมือกับแบงก์ต่าง ๆ เป็นรายกรณีไป เช่น อาจจะออกมาเป็น BAM1 จับมือกับแบงก์หนึ่ง, BAM2 จับมือกับอีกแบงก์หนึ่ง, BAM3 จับกับอีกแบงก์หนึ่ง ฯลฯ

ด้านแหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์อีกรายกล่าวว่า ที่ผ่านมามีการพูดคุยกันเรื่องการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ AMC แต่ก็มีขั้นตอนที่ยุ่งยากพอสมควร ประกอบกับกฎหมายไม่เอื้อนัก ทำให้เวลาตีโอนทรัพย์ชำระหนี้ของลูกค้าไปยังบริษัทร่วมทุน ต้องเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

เนื่องจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (พ.ร.ก.ซอฟต์โลน) ไม่ครอบคลุมทำให้กรมที่ดินอาจจะไม่ยกเว้นค่าธรรมเนียมให้

ประกอบกับคนที่เข้ามาเป็นตัวกลางอาจไม่ได้รับความวางใจจากลูกค้าว่าจะเข้ามาฮุบกิจการหรือทรัพย์ที่ตีโอนมาพักไว้หรือไม่ รวมถึงกระบวนการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนและการขออนุญาตจาก ธปท.ค่อนข้างต้องใช้เวลา

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ชโย กรุ๊ป (CHAYO) กล่าวว่า บริษัทสนใจในแนวคิดการตั้งบริษัทร่วมทุนกับ AMC ด้วยกัน หรือทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) แบบ exclusive partner กับสถาบันการเงินในการรับซื้อหนี้มาบริหาร ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการบริหารทรัพย์ภายใต้สถานการณ์โควิด-19

โดยวงเงินการร่วมทุนจะขึ้นอยู่กับขนาดมูลหนี้ที่จะรับซื้อ เช่น แบงก์มีหนี้ 1 หมื่นล้านบาท สัดส่วนการร่วมทุนอาจจะเป็น AMC ประมาณ 30% แบงก์ 30% และที่เหลืออีก 40% เป็นคนกลาง ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญ (know how) แต่อาจจะเป็นแหล่งเงินทุนหรือจัดหาแหล่งเงินทุน (funding) ให้บริษัท

โดยมีการกำหนดว่าต้นทุนการบริหารจัดการหนี้อยู่ที่เท่าไร และอัตราดอกเบี้ยที่จะรับซื้อคืนหลังมีการปรับโครงสร้างหนี้และกำไรที่คาดหวังอยู่ที่เท่าใด อย่างไรก็ดี รายได้และผลตอบแทนอาจจะไม่สูง เพราะเป็นโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

“การร่วมมือกันแบบ exclusive partner หรือ JV จะทำให้หนี้ไหลมาทางเอเอ็มซี โดยแบงก์เองหลังจากตัดขายหนี้ออกมาก็สามารถรับรู้รายได้ทันที และตัดหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ออกได้เลย ซึ่งก็เป็นแนวทางที่ดี อย่างไรก็ดี เราอาจจะมีทุนน้อยแต่หาก BAM เปิดโอกาสให้เข้าร่วม เราก็พร้อมที่จะเข้าไปร่วมด้วย” นายสุขสันต์กล่าว


ก่อนหน้านี้ CHAYO ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทย่อยใหม่ คือ บริษัท ชโย เจวี จำกัด (CHAYO JV) และเดินหน้าเจรจากับพันธมิตรประมาณ 1-2 รายเข้ามาร่วมลงทุน โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในไตรมาส 1 ปี 2564 นี้