กลุ่มการเงิน “เจ้าสัว” ปักธง ผู้นำตลาด จ่อร่วมทุนพันธมิตรปั๊มพอร์ตสินเชื่อ

เครือไทย โฮลดิ้งส์

กลุ่มธุรกิจประกันภัยและการเงินในเครือ “ทีทีซี” ของ “เจ้าสัวเจริญสิริวัฒนภักดี” ได้ประกาศแผนธุรกิจในระยะ 3-5 ปีข้างหน้านี้แล้ว โดยผู้นำทัพคนใหม่ “ฐากร ปิยะพันธ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เครือไทย โฮลดิ้งส์ (TGH) มองเป้าสูงถึงการก้าวไปสู่การ “ผู้นำกลุ่มธุรกิจประกันและการเงิน” ของประเทศไทย

ไทม์ไลน์รุกสินเชื่อรายย่อย

“ฐากร” ฉายภาพว่า ปัจจุบันธุรกิจประกันและการเงินภายใต้ “TGH” ประกอบด้วย 3 กลุ่ม คือ 1.”ประกันภัย” มี บริษัทอาคเนย์ประกันชีวิต บริษัทอาคเนย์ประกันภัย และ บมจ.ไทยประกันภัย มีสินทรัพย์รวมกันราว 75,000 ล้านบาท

2.การเงิน มีบริษัทอาคเนย์แคปปิตอล ผู้ให้บริการรถเช่าองค์กรที่มีสินทรัพย์รวม 15,000 ล้านบาท และ 3.สินเชื่อ มีบริษัทอาคเนย์ มันนี่ ที่จะเริ่มปล่อยสินเชื่อใหม่ ๆ ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 นี้

โดยในช่วงไตรมาส 3 จะปล่อยสินเชื่อรถยนต์ รถเช่ามือสอง และสินเชื่อมอเตอร์ไซค์ จากนั้นในไตรมาส 4 จะปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ และ สินเชื่อส่วนบุคคล ทั้งหมดนี้คาดว่าภายในปีนี้จะมียอดปล่อยสินเชื่อใหม่รวม 2,000 ล้านบาท และจะขยับบุกตลาดอย่างเต็มรูปแบบมากขึ้นในปี 2565

เร่งดึงพันธมิตรปั้นพอร์ตโตเร็ว

“ปีนี้ธุรกิจสินเชื่อจะยังเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสร้างทีมงาน แม้ว่าตลาดนี้จะมีคู่แข่งค่อนข้างมาก และมีความท้าทายเหมือนการปีนขึ้นยอดเขาเอเวอเรสต์ แต่เราก็มองว่าจะสามารถเข้าไปซื้อกิจการ

หรือหาพันธมิตรร่วมทุน (JV) ได้ โดยอาจเล็งบริษัทขนาดกลางที่มีเครือข่ายเข้าถึงลูกค้าอยู่ทั่วประเทศ และมีจริตการทำงานตรงกับแนวทางของบริษัท อาจไม่ต้องชาร์จดอกเบี้ยสูงมาก ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่จะเร็วกว่าการเริ่มต้นนับหนึ่ง โดยอยู่ระหว่างเจรจา”

“ฐากร” ปักหมุดเป้าหมายระยะ 3 ปีข้างหน้า (2564-2566) ธุรกิจสินเชื่อจะมีรายได้ขึ้นไปแตะ 30,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้าเติบโตเฉลี่ยปีละ 14-15% ขณะที่ฐานกำไรสุทธิจะพยายามเติบโต 20% ต่อปี ทั้งนี้ ได้เตรียมเม็ดเงินลงทุนระบบเทคโนโลยีไว้ 1,500 ล้านบาท

“ถ้าเรามีข้อมูล (data) ของลูกค้าอยู่แล้ว การคิดอัตราดอกเบี้ยอาจจะลดลงได้ เช่น จำนำทะเบียนรถ อาจจะคิดดอกเบี้ย 20% ต่อปี แต่ถ้าไม่มีดาต้าอยู่เลยก็คงต้องคิดดอกเบี้ยตามปกติ เพราะยังไม่ทราบความเสี่ยงของลูกค้า”

ดันเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ธุรกิจประกัน

ส่วนธุรกิจที่ทำอยู่แล้ว “ฐากร” บอกว่าในส่วนธุรกิจประกันภัยตั้งเป้าขยับส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ของอาคเนย์ประกันภัยและไทยประกันภัยให้ขึ้นติดท็อป 5 ภายใน 3 ปี จากปัจจุบันมาร์เก็ตแชร์รวมกันอยู่อันดับ 6 ด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ โดยจะเริ่มลุยตลาดด้วยประกันรถยนต์ที่คิดเบี้ยประกันตามพฤติกรรมขับขี่ โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย และการขยายการเติบโตผ่านสินค้าประกันสุขภาพ ประกันภัยไซเบอร์ และประกันอัคคีภัย

ขณะที่ธุรกิจประกันชีวิตผ่านอาคเนย์ประกันชีวิต จะโฟกัสขยายฐานตัวแทนใหม่โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ซึ่งจะเน้นรักษาพันธมิตรช่องทางขายผ่านธนาคาร (แบงก์แอสชัวรันซ์) และหาพันธมิตรใหม่เพิ่มเติมซึ่งปัจจุบันพอร์ตส่วนใหญ่ของบริษัทกว่า 70% มาจากแบงก์แอสชัวรันซ์ ทั้งผ่านธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

“เราจำเป็นต้องขยายช่องทางเทเลเซลส์จากปัจจุบันมีพนักงานเพียง 150 คน และพยายามสร้างฐานตัวแทนใหม่ หรือ ที่ปรึกษาการเงิน (FA) โดยคาดหวังสัดส่วนช่องทางขายระหว่างแบงก์และตัวแทนต่อจากนี้

จะอยู่ที่ 60% และ 40% ตามลำดับ รวมถึงต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานช่องทางออนไลน์จากปี 2563 เริ่มมียอดขายผ่านช่องทางนี้เข้ามาแล้วกว่า 1,200 ล้านบาท เติบโตถึง 70% นอกจากนี้ ยังมีแผนจะขยายตลาดประกันกลุ่ม และประกันชีวิตควบการลงทุน (ยูนิตลิงก์) เพิ่มเติมด้วย”

รักษาแชมป์ให้บริการรถเช่า

ส่วนธุรกิจไฟแนนซ์ “ฐากร” ตั้งเป้าว่าอาคเนย์แคปปิตอลจะต้องรักษาเบอร์ 1 ผู้ให้บริการรถเช่าลูกค้าองค์กรไว้โดยหลังจากนี้ต้องใช้เทคโนโลยีและแพลตฟอร์มใหม่ ๆ เข้ามาดูแลลูกค้าให้ดีขึ้น เพื่อสร้างกำไรที่ยั่งยืนให้ได้ เพราะในพอร์ตจะมีรถเช่าครบกำหนดสัญญาปีละประมาณ 2,000 คัน

ธุรกิจใหม่รับสังคมสูงวัย

TGH ยังมีธุรกิจใหม่ คืออสังหาริมทรัพย์และการพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบริการเพื่อสุขภาพ โดยการทำประกันที่คุ้มครองจนสิ้นอายุขัย เพื่อตอบรับสังคมผู้สูงอายุ ภายใต้บริษัทไทย เวลเนส ลิฟวิ่ง ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้น ซึ่งจะเห็นความคืบหน้าการทำธุรกิจในเร็ว ๆ นี้

5 ปี สยายปีกตลาดอาเซียน

ทั้งนี้ ในปี 2563 ผลกระทบจากโควิด-19 และการปรับรูปแบบดำเนินธุรกิจใหม่ ส่งผลให้ TGH มีรายได้รวม 23,300 ล้านบาท ลดลงเกือบ 4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

ขณะที่นโยบายของ TGH นอกจากตั้งเป้าจะเป็นผู้นำกลุ่มธุรกิจประกันและการเงินในประเทศไทยแล้ว ยังมีแผนขยายธุรกิจไปสู่ภูมิภาคอาเซียนภายใน 5 ปีข้างหน้า (ปี 2568) โดยจะเริ่มจากธุรกิจประกันก่อนเฟสแรกประเทศเวียดนาม ซึ่งมีกลุ่มทีซีซีทำธุรกิจอยู่แล้วน่าจะเข้าไปตอบสนองลูกค้าเหล่านั้นก่อนได้ รวมไปถึง สปป.ลาว และกัมพูชา

โดยจะใช้เทคโนโลยีและข้อมูลในการพัฒนาโปรดักต์และบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์และเข้าถึงได้ง่าย คุ้มค่าเงิน และจะบุกด้วยธุรกิจสินเชื่อเป็นเฟสถัดไป

“เดิมเราโฟกัสธุรกิจประกันเป็นหลัก ซึ่งก็ช่วยหนุนกลุ่มธุรกิจทีซีซี เช่น ประกันการก่อสร้าง, ประกันรถยนต์ แต่หลังจากนี้ไปเราจะเป็นผู้ให้บริการทางการเงิน ดังนั้น เราจะเริ่มเปิดให้บริการผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่น ๆ ขึ้นมา ซีรีส์แรกคือ สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อมอเตอร์ไซค์ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ และสินเชื่อส่วนบุคคล”

ทั้งนี้ ซีอีโอ “เครือไทยฯ” ย้ำถึงทิศทางการทำธุรกิจระยะข้างหน้าว่า “เวลาออกเรือเข็มทิศเป็นเหมือนตัวนำในการเดินทาง

ส่วนธุรกิจ TGH การเดินทางหลังจากนี้จะใช้เทคโนโลยีและดาต้าในการนำพาธุรกิจไปสู้รบการแข่งขันในตลาดที่ดุเดือด” เพื่อมุ่งไปสู่การเป็น “ผู้นำกลุ่มธุรกิจประกันและการเงิน” ของประเทศไทยให้ได้โดยเร็วนั่นเอง