“กสิกรไทย” จับสัญญาณเศรษฐกิจจีนอาจโตต่ำกว่าคาด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินเศรษฐกิจจีน อาจขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์

วันที่ 22 มี.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินว่า เศรษฐกิจจีน อาจขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ จากการดำเนินนโยบายทางการเงินและการคลัง อย่างระมัดระวัง และการชะลอตัวของการบริโภคในประเทศ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจีน นายหลี่ เค่อเฉียง แถลงรายงานนโยบายรัฐบาล ในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2564 ตั้งเป้าหมายการเติบโตเศรษฐกิจจีนปี 2564 ที่ไม่ต่ำกว่า 6% ต่อปี โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองว่า การกำหนดเป้าหมายการเติบโตที่ค่อนข้างต่ำนี้ เป็นคำพูดเชิงสัญลักษณ์ เพื่อสะท้อนถึงก้าวแรกในทิศทางนโยบายรัฐบาลจีนที่จะเปลี่ยนไป

เพื่อเป็นการปรับกระบวนทัศน์ของประเทศใหม่ มุ่งสู่การพัฒนาที่เน้นการเติบโตแบบมีคุณภาพและยั่งยืน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยหันมาให้ความสำคัญกับการหมุนเวียนเศรษฐกิจภายในประเทศ การพัฒนาเทคโนโลยีพื้นฐาน 7 หมวดหมู่ เพื่อลดการพึ่งพาต่างประเทศทั้งในเรื่องตลาดและเทคโนโลยี เพื่อความมั่นคงและมั่งคั่งของประเทศในระยะยาว

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการไว้ในกรอบเดิมที่ 8.0-8.5% แต่มีความเป็นไปได้ที่การเติบโต อาจลงมาใกล้กรอบล่างที่ 8.0% เนื่องจากการปรับเข้าสู่การใช้นโยบายทางการเงินและการคลังแบบปกติ (Policy Normalization) เร็วกว่าที่คาดการณ์ รวมถึงภาวะชะลอตัวของการบริโภคภายประเทศ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของภาคการส่งออก

แม้ว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจจีนในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 จะออกมาในทิศทางที่เติบโตได้ดี ทั้งจากตัวเลขการค้าปลีกที่เติบโตร้อยละ 33.8 (YoY) ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 35.1 (YoY) การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรร้อยละ 35.0 (YoY) และภาคการส่งออกร้อยละ 60.6 (YoY) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการเติบโตบนฐานที่ต่ำของปีที่แล้ว

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 1 ของปี 2564 จะขยายตัวในกรอบร้อยละ 11.0-15.0 (YoY) อันเนื่องมาจากสัญญาณการชะลอตัวของการบริโภคและการผลิตในประเทศ สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อซึ่งเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว


รวมถึงภาคการส่งออกที่อาจชะลอตัว จากภาวะอิ่มตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นปลายสำหรับการ Work-From-Home และการลดลงของความต้องการอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาด จากผลความสำเร็จของการได้รับวัคซีนเป็นวงกว้างในบางประเทศ