ดอลลาร์อ่อนค่า หลังประธานาธิบดีทรัมป์หนุนนายเจอโรม พาวเวล

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 31 ตุลาคม 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ ที่ระดับ 33.22/23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (30/10) ที่ 33.24/26 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ วานนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยการใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐในเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ซึ่งสูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 0.8 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของตัวเลขดังกล่าวได้รับแรงหนุนจากคำสั่งซื้อรถยนต์เป็นหลัก โดยเฉพาะในรัฐเท็กซัสและฟลอริดา เพื่อทดแทนรถยนต์ที่ได้รับความเสียหายจากพายุเฮอร์ริเคนฮาร์วีย์และเออร์มา ในวันเดียวกันนี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กได้รายงานว่า สมาชิกพรรครีพับลิกันกำลังพิจารณาปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในแผนการปฏิรูปโครงสร้างภาษี โดยแผนการปฏิรูปดังกล่าว จะส่งผลให้อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลดลงแตะระดับร้อยละ 20 ได้ในปี 2565 อย่างไรกํตาม แม้จะมีปัจจัยบวกสนับสนุนค่าเงินดอลลาร์ดังที่กล่าวมาข้างต้น ค่าเงินดอลลาร์ยังคงได้รับแรงกดดันจากข่าวที่ว่าประธานาธิบดีทรัมป์มีแนวโน้มที่จะเลือกนายเจอโรม พาวเวล ผู้ว่าการคนหนึ่งในเฟด ให้ดำรงตำแหน่งประธานเฟดคนต่อไป ต่อแทนนางเยลเลนที่กำลังจะหมดวาระในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 โดยนักลงทุนมองว่า นายพาวเวลมีแนวคิดแบบสายพิราบ ซึ่งหมายถึงความเป็นไปได้ที่จะดำเนินปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเป็นค่อยไป มากกว่าตัวเก็งคนอื่น ๆ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับนายจอห์น เทย์เลอร์ นักเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โดยนายเทย์เลอร์เป็นตัวเก็งคนสำคัญอีกคนหนึ่งสำหรับตำแหน่งประธานเฟด ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.21-33.235 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.22/24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (31/10) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1642/43 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (30/10) ที่ 1.1638/41 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยคณะกรรมาธิการยุโรปเปิดเผยความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของยูโรโซน ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าคาดในเดือนตุลาคม แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ภาวะฟองสบู่ดอท-คอมแตกในปี 2543 ตัวเลขดังกล่าวเป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันว่าเศรษฐกิจของยูโรโซนมีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยความเชื่อมั่นในยูโรโซนเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 114.0 ในเดือนตุลาคม จาก 113.1 ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ในผลสำรวจของรอยเตอร์ คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 113.4 นอกจากนี้สำนักงานสถิติรัฐบาลกลางของเยอรมนีได้เปิดเผย ยอดค้าปลีกของเยอรมนีเพิ่มขึ้นต่ำกว่าคาดเล็กน้อยในเดือนกันยายน แต่เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบรายปี ซึ่งเพิ่มสัญญาณที่บ่งชี้ว่า การอุปโภคบริโภคยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ ทั้งนี้ ยอดค้าปลีกในเยอรมนีเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบรายเดือน ขณะที่นักวิเคราะห์ในผลสำรวจของรอยเตอร์คาดไว้ว่าอาจเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 ทั้งนี้ ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1623-1.1653 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1636/40 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนในวันนี้ (31/10) เปิดตลาดที่ระดับ 113.14/17 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (30/10) ที่ระดับ 113.56/60 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ วันนี้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินไว้ที่ร้อยละ -0.1 โดยผู้มีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนน 8 ต่อ 1 ให้ตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับดังกล่าว และแม้ว่าบีโอเจจะมีการปรับลดการคาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อสำหรับปีงบประมาณปัจจุบันลงเล็กน้อย บีโอเจยังคงเชื่อมั่นว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่ง จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้นได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปสู่ระดับเป้าหมายที่ร้อยละ 2 ได้ในที่สุด ทั้งนี้การเคลื่อนไหวระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 113.24-113.74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 113.20/22 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในช่วงสัปดาห์นี้ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงในการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมจากเอดีพีของสหรัฐ (1/11) ดัชนีพีเอ็มไอภาคการผลิตจากสถาบันไอเอสเอ็มของสหรัฐ (1/11) และดัชนีพีเอ็มไอภาคการผลิตของอังกฤษ (1/11)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.40/0.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +0.25/+0.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ