ก.ล.ต.กล่าวโทษอดีตผู้บริหาร IEC และพวกรวม 25 ราย ฐานทุจริต

ก.ล.ต.กล่าวโทษอดีตผู้บริหาร IEC กับพวกรวม 25 ราย กรณีร่วมกันกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต และแสวงหาประโยชน์ รวมมูลค่าความเสียหายมากกว่า 200 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก.ล.ต. กล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหาร บริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) (IEC) กับพวกรวม 25 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณีร่วมกันกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต เบียดบังทรัพย์สิน และแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ IEC เสียหาย ตลอดจนจัดทำ หรือยินยอมให้มีการจัดทำบัญชีของ IEC ไม่ถูกต้อง ไม่ตรงต่อความเป็นจริง เพื่อลวงบุคคลใดๆ เกี่ยวกับการลงทุนซื้อหุ้นบริษัทย่อย การเข้าทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้าง และการจัดซื้อและติดตั้งเครื่องจักร โดยบุคคลที่ถูกกล่าวโทษในครั้งนี้ ประกอบด้วย

(1) นายภูษณ ปรีย์มาโนช (2) นายชาญไชย เข็มวิเชียร (3) นางสาวพลอยแก้ว ปริศวงศ์ (4) นายมรุพงศ์ ศิริวัฒน์ (5) นายชยกร อัครมาส (6) นายสุนันทร์ ศรีใจพระเจริญ (7) นายสราญ เลิศเจริญวงษา (8) นายสุทิน ใจธรรม (9) นางสาวจารุวรรณ ภูษณะภิบาลคุปต์ (10) นายสุทัศน์ สุขเลิศ (11) นางสาวกรวรรณ สุ่นประเสริฐ (12) นายนิวัฒน์ แม้นอิ่ม (13) นายสุทิน พรหมทอง (14) บริษัท นอร์ท เอ็นไวรอนเมนท์ จำกัด (NE) (15) นายสุนทร ศรีใหม่ (16) บริษัท เอ็นเนอร์จีซิสเท็ม เอ็นจิเนียริง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด (ESES) (17) นายนันทวัฒน์ ภูดิทไอยราศักดิ์ (18) บริษัท บ้านทองคำ จำกัด (19) นายสมชาย โพธิ (20) บริษัท เพชรปิยะ กรุ๊ป จำกัด (21) นายธนภัทร เพชรขวัญ (22) นางกัญญาภัค เพชรขวัญ (23)บริษัท ไทย-ชิน เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (24) นายรัตนธร ชินกระจ่างกิจ (25) นางญดาพัชร ชินกระจ่างกิจ

ก.ล.ต. ได้ตรวจสอบพยานหลักฐานพบว่า ในช่วงระหว่างเดือนกันยายน 2557 – เดือนสิงหาคม 2559 บุคคลทั้ง 25 ราย ได้กระทำผิดตามที่ระบุไว้ข้างต้น ตลอดจนการใช้ NE และ ESES ซึ่งเป็นบริษัทที่นายภูษณ มีอำนาจควบคุม เป็นช่องทางในการกระทำทุจริตในหลายกรณี ซึ่ง ก.ล.ต. ได้ดำเนินการกล่าวโทษกลุ่มบุคคลดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 9 กรณี มูลค่าความเสียหายเบื้องต้นรวมมากกว่า 200 ล้านบาท

ทั้งนี้ ธุรกรรมตามรายละเอียดข้างต้น เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 281/2 วรรคสอง 307 308 311 312 และ 315 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 83 86 91 352 353 และ 354 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งแต่ละกรณีอาจต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนถึงหนึ่งล้านบาท ก.ล.ต. จึงได้กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

นอกจากนี้ การดำเนินการดังกล่าว ยังมีผลให้บุคคลที่ถูกกล่าวโทษเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจให้เป็นกรรมการหรือผู้บริหาร และไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี