สัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง หนุนดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า

ดอลลาร์สหรัฐ
REUTERS/Jo Yong-Hak/File Photo

สัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง หนุนดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังเฟดออกมาประกาศว่า จะไม่ต่ออายุโครงการผ่อนคลายด้านเงินทุนสำหรับธนาคารพาณิชย์ ขณะที่เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 30.92/94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 22 มีนาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/3) ที่ระดับ 30.99/92 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (19/3) ที่ระดับ 30.83/85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ขณะที่ดัชนีหุ้นดาวโจนส์วันศุกร์ปิดลบ 234.33 จุด หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยว่า จะไม่มีการต่ออายุโครงการผ่อนคลายด้านเงินทุนสำหรับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคมนี้

โดยเฟดประกาศในวันศุกร์ว่า เฟดจะไม่ต่ออายุโครงการผ่อนคลายด้านเงินทุนสำหรับธนาคารพาณิชย์ซึ่งใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสหรัฐ

โครงการดังกล่าวอนุญาตให้ธนาคารต่าง ๆ สามารถลดทุนหากมีการถือครองพันธบัตรและตราสารหนี้อื่น โดยธนาคารไม่ต้องนำมูลค่าของพันธบัตรและเงินฝากที่ฝากไว้กับเฟดเข้ารวมในการคำนวณอัตราส่วนโครงสร้างทางการเงิน (Leverage ratio)

ซึ่งเฟดหวังว่า มาตรการผ่อนคลายเงินทุนดังกล่าวจะช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดพันธบัตรในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 และช่วยหนุนให้ภาคธนาคารปล่อยเงินกู้มากขึ้น หลังจากที่ธนาคารต่าง ๆ ได้พากันขายพันธบัตรเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในช่วงเริ่มต้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวเหนือ 1.70% ขานรับข่าวที่ว่า เฟดจะไม่ต่ออายุโครงการผ่อนคลายเงินทุนสำหรับธนาคารพาณิชย์

ค่าเงินบาทปรับตัวกรอบแคบใกล้ระดับปิดตลาด หลังจากปรับตัวผันผวนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา จากปัจจัยรอบด้านทั้งจากราคาน้ำมันโลกร่วง ฟุตซี่ลดน้ำหนักตลาดหุ้นไทย (FTSE Rebalance) ที่มีผลวันศุกร์ที่ผ่านมา การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล หลังคาดอัตราเงินเฟ้อสหรัฐเร่งตัวจากแนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นเร็วกว่าคาดรับแรงหนุนวัคซีนโควิดและเม็ดเงินมหาศาลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ ยังคงกดดันการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในระยะนี้

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.86-30.93 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.92/94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/3) ที่ระดับ 1.1879/80 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (19/3) ที่ระดับ 1.1895/96 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงเช่นกัน หลังตลาดวิตกเกี่ยวกับการประกาศล็อกดาวน์รอบใหม่ในฝรั่งเศสเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นเวลา 4 สัปดาห์ใน 16 แคว้น ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโรคโควิด-19 ประกอบกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่เป็นไปอย่างล่าช้าในบางประเทศ กดดันการซื้อขายเพิ่มเติม

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1869-1.1911 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1905/07 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/3) ที่ระดับ 108.90/91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (19/3) ที่ระดับ 108.88/89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินเยนยังคงเคลื่อนตัวอยู่ในกรอบแคบหลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ตัดสินใจที่จะซื้อกองทุน ETF ที่เกี่ยวพันกับดัชนี Topix เท่านั้น หลังจากที่ทบทวนการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจนถึงขณะนี้

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.50-108.95 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.72/74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสองของสหรัฐเดือนกุมภาพันธ์ (22/3), การเปลี่ยนแปลงในจำนวนผู้ยื่นขอรับสวัสดิการของอังกฤษเดือนกุมภาพันธ์ (23/3), ยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐเดือนกุมภาพันธ์ (23/3), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการของญี่ปุ่นเดือนมีนาคม (24/3), ดัชนีราคาผู้บริโภคอังกฤษ เดือนกุมภาพันธ์ (24/3),

การตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยของไทย (24/3), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของเยอรมนี เดือนมีนาคม (24/3), ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ (24/3), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเยอรมนีจากสถาบั GfK เดือนเมษายน (25/3), จำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (25/3), ดัชนี GDP ไตรมาส 4/63 (25/3),

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเขตโตเกียว เดือนมีนาคม (26/3), ดัชนียอดขายปลีกอังกฤษ เดือนกุมภาพันธ์ (26/3), ดัชนีบรรยากาศทางธุรกิจของเยอรมนีจากสถาบัน Ifo เดือนมีนาคม (26/3), ดัชนีราคาด้านการบริโภคส่วนบุคคล (PCE Price Index) ของสหรัฐเดือนกุมภาพันธ์ (26/3),

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.35/0.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศ อยู่ที่ 2.75/3.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ