คุยเปิดอก “ปิติ” แม่ทัพใหญ่ TMB ภารกิจรวมแบงก์ใกล้ถึงเส้นชัย

การควบรวมกิจการระหว่าง “ธนาคารทหารไทย” (TMB) กับ “ธนาคารธนชาต” (TBANK) จะเสร็จสิ้นในเดือน ก.ค.นี้ ซึ่งทางแบงก์เตรียมใช้ชื่อใหม่ “ธนาคารทหารไทยธนชาต” (TMBThanachart Bank)

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “ปิติ ตัณฑเกษม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี ที่ได้เล่าถึงกระบวนการรวมกิจการของแบงก์ที่มี 3 ขั้นตอน คือ restructure (ปรับโครงสร้าง) revive (ฟื้นฟู) และ reform (ปฏิรูป) ตลอดจนทิศทางธุรกิจของแบงก์ในอนาคต

เคลียร์ “คน” ลงตัวแล้ว

โดย “ปิติ” เล่าว่า หลังประกาศควบรวมกิจการผ่านมาราว 1 ปี ปัจจุบันธนาคารยังอยู่ในโหมด “restructure” เพื่อรวม 2 องค์กรเป็น “หนึ่งเดียว” ทั้งเรื่อง“คน” ที่เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งทำให้เสร็จ เนื่องจากโครงสร้างบุคลากรของ 2 องค์กรแตกต่างกันในแง่ระดับชั้น ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงจนถึงผู้จัดการสาขาดังนั้น หากไม่เร่งจัดวางให้ชัดเจนจะทำให้เกิดภาวะสุญญากาศได้

“ที่ผ่านมา จึงมีโครงการเกษียณก่อนครบกำหนด โดยพนักงานไม่ต้องรอให้แผนการควบรวมแล้วเสร็จ ซึ่งใช้เวลาอีก 5-6 เดือน แต่เรามีการให้แพ็กเกจและผลตอบแทนที่เหมาะสมสำหรับคนที่ไม่อยากรอ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจและแผนต่าง ๆ สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ดังนั้น ตอนนี้ในเรื่องของ ‘คน’ ถือว่าได้วางตัวเสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว”

สำหรับทิศทางของแบงก์ในระยะข้างหน้า ความต้องการใช้คนมีน้อยลงเรื่อย ๆ แต่คนที่มีอยู่ก็ต้องมีคุณภาพสูงขึ้นสอดคล้องกับผลตอบแทนที่จะต้องสูงขึ้นเช่นเดียวกัน เนื่องจากงานที่เป็นกระดาษจะถูกทดแทนด้วยดิจิทัล โดยที่ผ่านมาพนักงานของแบงก์ลดลงไปแล้วราว 15% ปัจจุบันเหลืออยู่ราว 1.6-1.7 หมื่นคน จากเดิมมีกว่า 2 หมื่นคน

อย่างไรก็ดี “ปิติ” กล่าวว่า หลังจากนี้ภาพการลดลงของจำนวนพนักงานจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องมีโครงการพิเศษอีกแล้ว เนื่องจากธนาคารได้ลดคนในส่วนงานที่ซ้ำซ้อนไปหมดแล้ว

“โครงสร้างที่ไม่เหมือนกัน ตำแหน่งตรงไหนที่ไม่ชัด พอรวมแล้วจะเละแน่นอน ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ต้องเร่งทำเสร็จตั้งแต่แรก ๆ โดยใครที่จะไม่ไปต่อ อยากรับแพ็กเกจก่อน เรารีบให้เลย เพราะเราไม่อยากรอจนถึงวันที่รวมกิจการซึ่งจะทำให้เกิดสุญญากาศจึงต้องรีบเคลียร์ และจากกันเลยดีกว่า อย่ายื้อ จะได้ไม่มีความคลุมเครือ ลุยไปข้างหน้ากันได้เลย”

ลดสาขาลงอีก 100 แห่งใน 3 ปี

โดยการปรับเรื่องคน จะสอดคล้องกับสาขา “ปิติ” บอกว่า ตอนที่ประกาศควบรวม ขณะนั้น 2 แบงก์มีสาขารวมกันกว่า 900 แห่ง ปัจจุบันลดเหลือราว 700 แห่ง ส่วนในระยะกลางหรือ 3 ปีข้างหน้าสาขาที่เหมาะสมจะอยู่ที่ราว 600 แห่ง

น่าจะเพียงพอรองรับลูกค้าทั่วประเทศได้ ส่วนหนึ่งมาจากแบงก์พยายามผลักดันให้ลูกค้าคุ้นชินกับการใช้ดิจิทัล ประกอบกับไทยกำลังเดินเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (cashless society) ด้วย ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องมีสาขามากเหมือนในอดีต

“จากเดิมแบงก์ใหญ่ ๆ ต้องใช้เป็น 1,000 สาขาดูแลคนทั่วประเทศ แต่พอดิจิทัลเข้าถึงและมีช่องทางที่ทดแทนได้เกิดขึ้น เช่น ไปถอนเงินที่เซเว่นอีเลฟเว่นได้ ที่ไปรษณีย์ได้ และตอนนี้คนก็ไม่ถอนเงินที่เอทีเอ็มกันแล้ว แต่หันไปใช้แอปพลิเคชั่นเป๋าตัง ถุงเงิน เป็นต้น สาขาก็ปรับเปลี่ยนกันไป”

ปรับ “ระบบงาน” ใกล้เข้าเส้นชัย

หลังจากการบริหารจัดการเรื่อง “คน” เรียบร้อย “ปิติ” บอกว่า ภารกิจต่อมาคือการวางตัวผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจนว่าผลิตภัณฑ์ใดจะอยู่หรือจะยกเลิกหรือรวมกันเพื่อจะได้เข้าสู่ขั้นตอนการแก้ “ระบบงานหลังบ้าน”ซึ่งตอนนี้ระบบงานใหญ่ ๆ และสำคัญอย่าง “ระบบบัตรเครดิต” ได้จัดการเรียบร้อยไปแล้ว ยังเหลืออีก 2-3 ระบบซึ่งความเสี่ยงไม่สูงเท่าระบบบัตรเครดิต

ขณะที่กระบวนการ “revive” คือ การพัฒนาโปรดักต์ต่าง ๆ ให้ตอบโจทย์มากขึ้น เช่น โปรดักต์บัญชี All Free ที่หลังจากรวมกิจการทำให้มีฐานลูกค้าให้ดูแลมากขึ้น ดังนั้น มองไปข้างหน้าจะต้องไม่ใช่แค่เงินฝาก ไม่มีค่าธรรมเนียมแล้ว แต่จะต้องช่วยให้ชีวิตลูกค้าดีขึ้นด้วยค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เพิ่มขึ้น ส่วน ME ก็กำลังดูว่าจะปรับให้ดีขึ้นอย่างไร เป็นต้น

“อย่าง All Free เราก็ให้ลูกค้าที่มีเงินในบัญชีเกิน 5,000 บาท ได้รับประกันอุบัติเหตุฟรีไปเลย เบิกค่ารักษาได้สูงสุด 3,000 บาท หรือเสียชีวิตจ่ายให้ 20 เท่าของเงินฝาก ซึ่งลูกค้าสามารถซื้อต่อยอดได้อีกในราคาไม่แพง”

ทั้งนี้ แบงก์ยังได้ดำเนินยุทธศาสตร์ “balance sheet synergy” ที่เป็นการประสานงบดุล เหมือนการตัดต้นไม้ให้เข้ารูปเข้าทรง เพื่อจะแข็งแรงขึ้น เนื่องจากธนชาตมีเงินฝากต้นทุนแพง

เพราะปล่อยสินเชื่อได้ดอกเบี้ยดีกว่า ส่วนทีเอ็มบีมีเงินฝากมากเพราะหาเงินฝากเก่งแต่ปล่อยสินเชื่ออาจไม่เก่งเท่าธนชาต ทำให้ที่ผ่านมาทีเอ็มบีจึงต้องปล่อยกู้บริษัทใหญ่ ๆ เพื่อให้ได้ดอกเบี้ยดี ๆ

“แต่พอรวมกันแล้วเราก็เลิกปล่อยรายใหญ่ได้ และธนชาตก็ไม่ต้องไปจ่ายดอกเบี้ยแพง ๆ ต้นทุนเงินฝากก็ลด ผลตอบแทนจากการปล่อยกู้เพิ่ม ทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรเลย คือไปลดในสิ่งที่ไม่จำเป็น”

โฟกัสปล่อยกู้รายกลาง-รายย่อย

“ปิติ” บอกว่า หลังจากนี้การปล่อยสินเชื่อของแบงก์จะโฟกัสไปที่สินเชื่อรายกลางและรายย่อยมากขึ้น เพราะลูกค้ารายใหญ่สามารถออกหุ้นกู้ได้ รวมถึงรายใหญ่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ดีอยู่แล้ว แบงก์จะไปปล่อยกู้ให้ต้องกดบัตรคิวเนื่องจากความเสี่ยงน้อยแต่ก็ได้ดอกเบี้ยไม่มาก

“เราก็มองว่ามีคนรอกดบัตรคิว รอปล่อยกู้รายใหญ่เยอะแล้ว เราจะไปกดบัตรคิวอีกทำไม เราก็ถนอมเก็บเงินก้อนนั้นไปปล่อยรายกลางรายเล็กดีกว่าไหม ส่วนรายใหญ่เราก็เน้นไปที่บริการการเชื่อมต่อไปยังรายกลางและรายเล็ก”

ส่วนการ “reform” แบงก์ก็ต้องปรับรูปแบบการทำธุรกิจให้ตอบโจทย์ทุกช่วงชีวิตของลูกค้า สร้างความตระหนักรู้ให้แก่ลูกค้าว่า ชีวิตมีความเสี่ยงอย่างไรบ้าง ตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ กระทั่งตาย

ซึ่งแบงก์ต้องช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกค้า เพื่อทำให้คนไทยมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น โดยแบงก์มีบริการทางการเงินที่เข้ามาตอบโจทย์ด้วยราคาที่จับต้องได้