รัฐขยายฐานภาษี ต้อน 4 ล้านคนเข้าระบบ ตั้งเป้ารีดผู้ค้าออนไลน์

กรมสรรพากร

ก่อนไวรัส “โควิด-19” จะแพร่ระบาดในปี 2563 กรมสรรพากรเคยประกาศนโยบายภาษีว่าจะต้องขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ได้อีกราว 4 ล้านคน จากปีงบประมาณ 2562 ที่มีผู้ที่อยู่ในฐานภาษีเพียงแค่ 11 ล้านคน

จากจำนวนผู้ที่กรมสรรพากรมองว่าควรจะอยู่ในฐานภาษีทั้งสิ้นราว 15 ล้านคน โดยคิดจากจำนวนประชากร 67 ล้านคน และตัดผู้ที่อายุต่ำกว่า 15 ปี และกลุ่มที่ได้รับยกเว้นภาษีออกไป เช่น เกษตรกร เป็นต้น

ที่ผ่านมากรมสรรพากรได้มีการนำระบบการวิเคราะห์ข้อมูล (data analytics) มาใช้ โดยมุ่งเน้น 2 ด้าน คือ ปรับกระบวนการทำงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ตั้งแต่กระบวนการลงทะเบียนยื่นภาษี จนกระทั่งจ่ายภาษี และคืนภาษี

พร้อมนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ อาทิ ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ข้อมูลประกันชีวิต ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นต้น เข้ามาช่วยวิเคราะห์จัดกลุ่มผู้เสียภาษี ทั้งนี้ เพื่อจำแนกออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย

1.กลุ่มที่ดีที่อยู่ในฐานภาษี 2.กลุ่มที่ดีที่ยังไม่อยู่ในฐานภาษี 3.กลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในฐานภาษี และ 4.กลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่อยู่ในฐานภาษี

โดย “กลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่อยู่ในฐานภาษี” ที่เป็นเป้าหมายของกรมสรรพากร คือ “ผู้ค้าขายออนไลน์” นั่นเอง ซึ่งกรมสรรพากรเคยให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 3 เท่า

ขณะที่การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และภาษีเงินได้จากผู้ค้าขายออนไลน์ในประเทศยังมีข้อติดขัด ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ที่ผ่านมาการจัดเก็บภาษี VAT ในประเทศต่ำกว่าเป้าหมาย

ทั้งนี้ แนวทางเก็บภาษีกลุ่มดังกล่าวกรมสรรพากรประกาศชัดเจนว่า ต้องใช้data analytics เป็นเครื่องมือสำคัญควบคู่ไปกับการใช้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ

อย่างไรก็ดี หลังจากประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนต้อง “ล็อกดาวน์ประเทศ” กิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก ธุรกิจและประชาชนได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวาง

ซึ่งรัฐบาลได้มีมาตรการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนและผู้ประกอบการเช่น การลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจากอัตรา 3% เหลือ 1.5% ตั้งแต่เดือน เม.ย.-ก.ย. 2563 เป็นต้น ส่งผลให้ในปีงบประมาณ 2563 (ต.ค. 2562-ก.ย. 2563)

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณไปถึง 336,924 ล้านบาท หรือ 12.3% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 172,032 ล้านบาท หรือ 6.7%

และพบว่ากรมสรรพากรจัดเก็บรายได้ ต่ำกว่าประมาณการไปถึง 282,865 ล้านบาท หรือ 13.4% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 8.7%

โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ 1.ภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่ำกว่าประมาณการไป 144,980 ล้านบาท หรือ 16.3% และต่ำกว่าปีก่อน 6.8% เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและการค้าที่หดตัว เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมทั้งการลดลงของราคาน้ำมันดิบดูไบ

2.ภาษีเงินได้นิติบุคคล ต่ำกว่าประมาณการ 118,935 ล้านบาท หรือ 16.4% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 12.5% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ภาษีนิติบุคคลจากประมาณการกำไรสุทธิในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 (ภ.ง.ด.51) หดตัว

ประกอบกับมีการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด.53) เหลือ 1.5% ถึงสิ้นเดือน ก.ย. 2563 ตามมาตรการรัฐบาล

และ 3.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต่ำกว่าประมาณการไป 22,358 ล้านบาทหรือ 6.2% เนื่องจากภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจากเงินเดือน (ภ.ง.ด.1) ขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19

มาถึงช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ต.ค. 2563-ม.ค. 2564) ในภาพรวมรัฐบาลเก็บรายได้สุทธิต่ำกว่าประมาณการไปแล้ว 60,030 ล้านบาท หรือ 7.8% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 13% ซึ่งในจำนวนดังกล่าวพบว่ากรมสรรพากรจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการไป 38,291 ล้านบาท หรือ 7.3% และต่ำกว่าปีก่อน 10%

โดย “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง ให้นโยบายผู้บริหารกรมสรรพากรในการประชุม/สัมมนาการบริหารงานจัดเก็บภาษีของสรรพากรภาค (กบภ.) ครั้งที่ 3/2564 ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเมื่อต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา โดยให้ความสำคัญกับ 3-4 เรื่องหลัก ๆ ได้แก่ 1.ให้พยายามจัดเก็บภาษีให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2.ให้พิจารณาปรับโครงสร้างภาษีให้เหมาะสมมากขึ้น

3.ให้พิจารณาหาแนวทางจัดเก็บภาษีใหม่ ๆ อาทิ ภาษีเกี่ยวกับการดูแลสิ่งแวดล้อม เป็นต้น และ 4.ให้เร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่ผู้ประกอบการเพื่อให้มีสภาพคล่องไปทำธุรกิจ

ขณะที่ล่าสุดสรรพากรพื้นที่ได้ส่งหนังสือถึงผู้ที่ยังไม่ยื่นภาษีในปี 2561 และ 2562 ให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อกรมสรรพากรภายในวันที่ 31 มี.ค. 2564 นี้ หากพ้นกำหนดจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ซึ่งมีรายงานว่ามีผู้ที่ได้รับหนังสือดังกล่าวไปยื่นแบบและถูกเรียกเก็บค่าปรับปีละ 200 บาท

โดย “เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” อธิบดีกรมสรรพากรอธิบายว่า ขณะนี้กรมมีนโยบายเข้าไปเป็นพันธมิตรกับผู้เสียภาษี โดยเข้าไปเตือนคนที่ถึงเกณฑ์ต้องยื่นแบบแล้วยังไม่ยื่นแบบให้เข้ามายื่นก่อนจะหมดเขต เพราะหากเลยกำหนดเวลาแล้วจะต้องเสียภาษีที่ยังไม่ได้จ่าย พร้อมเบี้ยปรับอีก 2 เท่า และเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือน

“ตอนนี้เราทำข้อมูล data analytics นโยบายคือเราควรไปเป็นพันธมิตรกับผู้เสียภาษี โดยเข้าไปแนะนำเตือนคนที่ไม่ได้ยื่นภาษีก่อนหมดเขตการยื่นแบบ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เสียภาษีไม่ต้องเจอเบี้ยปรับ เงินเพิ่มถ้าเลยกำหนดเวลายื่นแบบแล้ว เพราะถ้าเลยกำหนดเวลาอาจโดนปรับอีกมาก โดยการเสียค่าปรับ 200 บาทต่อปี เป็นการปรับทางอาญา แต่ยังไม่รวมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากร” นายเอกนิติกล่าว

อธิบดีกรมสรรพากรยืนยันว่า การดำเนินการดังกล่าวเพื่อสร้างเป็นธรรมระหว่างผู้ที่อยู่ในระบบภาษีกับผู้ที่อยู่นอกระบบ โดยกรมไม่ได้หวังเพิ่มรายได้ให้กรมแต่อย่างใด

ขณะที่แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรกล่าวว่า หนังสือที่ส่งไปแจ้งให้มายื่นแบบนั้นเป็นการเตือนผู้ที่กรมสรรพากรรู้ว่ามีรายได้จริง ๆ แต่ไม่ยอมยื่นแบบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม “ค้าขายออนไลน์”

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจะพบว่ากรมสรรพากรพยายามทำความเข้าใจกับผู้ขายของออนไลน์ว่าหากมีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 525,049 บาท แม้จะยื่นแบบก็ยังต้องเสียภาษี แต่จะเริ่มต้องเสียภาษีหากมีรายได้ทั้งปีเกินกว่า 525,050 บาทขึ้นไป และหากรายได้ทั้งปีเกิน 1.8 ล้านบาทจึงต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ดูตาราง) รวมถึงขยายเวลาให้ผู้ที่ยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ตได้ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2564 อีกด้วย

เรียกได้ว่าพยายามใช้ทั้ง “ไม้แข็ง” และ “ไม้นวม” ในการดึงคนกลุ่มนี้เข้าฐานภาษีนั่นเอง