เงินบาททรงตัวใกล้แนวต้าน 31.00 บาท/ดอลลาร์ รอผลประชุม กนง. 24 มี.ค.

แบงก์ชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย

ค่าเงินบาททรงตัวใกล้แนวต้าน 31.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ รอผลการประชุม กนง.ในวันพรุ่งนี้ (24 มี.ค.) ขณะที่ครม.เห็นชอบมาตรการทางการเงิน วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 23 มีนาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/3) ที่ระดับ 30.92/94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (22/3) ที่ระดับ 30.91/92 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าเทียบกับค่าเงินสกุลหลัก

หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลดลงมาทรงตัวอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.68 โดยได้รับแรงกดดันจากแรงซื้อของนักลงทุน ซึ่งมีความต้องการเข้าถือครองพันธบัตรในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ในประเทศตุรกี

ด้านการกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ในการประชุมธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) นั้น นายพาวเวลกล่าวว่า เฟดจะไม่เดินหน้ากระบวนการออกสกุลเงินดิจิทัลของเฟด หากไม่ได้รับการอนุมัติจากสภาคองเกรส และการออกกฎหมายที่จำเป็นต่อการออกสกุลเงินดังกล่าว

สำหรับปัจจัยในประเทศ ในวันนี้ (23/3) คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการทางการเงิน วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดเศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ในไตรมาส 3/65 แต่มองภาคการท่องเที่ยวจะต้องใช้เวลาถึง 4-5 ปี กว่าที่จะกลับมาอยู่ในจุดที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติถึงปีละประมาณ 40 ล้านคนได้

อย่างไรก็ตามตลาดยังรอการปรับปรุงของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 24 มีนาคมนี้ จะมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 7 และส่งสัญญาณมุ่งเน้นการใช้เครื่องมือที่สนับสนุนการกระจายสภาพคล่องอย่างตรงจุด ท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งมีลักษณะไม่ทั่วถึงและตลาดแรงงานที่ยังคงเปราะบาง

ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.89-30.99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.93/95 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/3) ที่ระดับ 1.1934/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (22/3) ที่ระดับ 1.1908/09 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยสอดคล้องกับการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินยูโรยังคงแกว่งตัวในแนวอ่อนค่า เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1885-1.1939 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1895/96 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/3) ที่รดับ 108.84/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (22/3) ที่ระดับ 108.66/67 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบกว้าง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของตลาดการเงินโลก

อย่างไรก็ตามวันนี้ (23/3) ธนาคารกลางญี่ปุ่นเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานออกมาที่หดตัวร้อยละ 0.2 เปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.67-108.86 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.72/74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีแนวโน้มคำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมสหราชอาณาจักรโดยสถาบันซีบีไอเดือนมีนาคม (23/3), งบดุลบัญชีเดินสะพัดสหรัฐ ไตรมาส 4/2563 (23/3), ยอดขายบ้านใหม่สหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ (23/3), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อญี่ปุ่น เดือนมีนาคม (24/3), ดุลการค้าไทย เดือนมีนาคม(24/3),

ดัชนีราคาผู้บริโภคสหราชอาณาจักร เดือนกุมภาพันธ์ (24/3), ดัชนีราคาผู้ผลิตสหราชอาณาจักร เดือนกุมภาพันธ์ (24/3), อัตราดอกเบี้ยนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (24/3), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเยอรมัน เดือนมีนาคม (24/3), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อสหภาพยุโรป เดือนมีนาคม (24/3), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อสหราชอาณาจักร เดือนมีนาคม (24/3),

ยอดคำสั่ซื้อสินค้าคงทนสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ (24/3), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อสหรัฐ เดือนมีนาคม (24/3), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหภาพยุโรปเดือนมีนาคม (24/3), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเยอรมันโดยสถาบันจีเอฟเค เดือนเมษายน (25/3), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศสหรัฐ ไตรมาส 4/2563 (25/3) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐ (25/3),

ดัชนีราคาผู้บริโภคญี่ปุ่นเดือนมีนาคม (26/3), ยอดค้าปลีกสหราชอาณาจักร เดือนกุมภาพันธ์ (26/3), ดัชนีบรรยากาศทางธุรกิจเยอรมันโดยสถาบันไอเอฟโอเดือนมีนาคม (26/3), ดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลสหรัฐเดือนกุมภาพันธ์ (26/3), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครัฐมิชิแกนสหรัฐ (26/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.30/0.40 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +1.90/2.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ