กดปุ่มซอฟต์โลนใหม่ 2.5 แสนล้าน อุ้มธุรกิจใหญ่-ค้ำสินเชื่อ 10 ปี

เงินบาท-ธนบัตร
REUTERS/Athit Perawongmetha/File Photo

ครม. เดินหน้า อุ้มหนี้ธุรกิจ สินเชื่อฟื้นฟู 2.5 แสนล้าน พร้อมเปิดโกดัง “พักหนี้ พักทรัพย์” 1 แสนล้าน “อาคม” แจงปรับเงื่อนไขซอฟต์โลนเปิดทางรายใหญ่ได้อานิสงส์ ขยายผ่อนชำระ 5 ปี ดึง บสย. ร่วมค้ำประกันสินเชื่อ 10 ปีคาดอุ้มธุรกิจ 3.6 หมื่นบริษัท พยุงจ้างงาน 8.6 แสนราย

เคาะ 2 มาตรการฟื้นฟูธุรกิจ

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่และผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) หรือมาตรการ “สินเชื่อฟื้นฟู” วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท

โดยสถาบันการเงินจะคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปีในช่วง 2 ปีแรก และเฉลี่ยไม่เกิน 5% ต่อปี สำหรับ 6 เดือนแรกรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ โดยสิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือให้ บยส. จากเดิมที่ค้ำสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี ให้ขยายการค้ำประกันในธุรกิจรายใหญ่ด้วยเป็นการชั่วคราว

โดยผู้ประกอบธุรกิจที่มีสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท สามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 30% ของวงเงินสินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2562 หรือ ณ วันที่ 28 ก.พ. 2564 แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า แต่ต้องได้ไม่เกิน 150 ล้านบาท

ส่วนผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงิน สามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรกของสัญญา และเฉลี่ยไม่เกิน 5% ต่อปีในช่วง 5 ปีแรก โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยให้ 6 เดือนแรก

“มาตรการดังกล่าวเป็นการปรับปรุง พ.ร.ก.ซอฟต์โลน 8 ข้อจำกัด อาทิ 1.คุณสมบัติผู้ประกอบธุรกิจที่จะเข้าร่วม ได้ทั้งลูกหนี้เดิมและเป็นลูกหนี้ใหม่ 2.ระยะเวลาปล่อยกู้ 2 ปี สั้นเกินไป 3.อัตราดอกเบี้ย 2% ไม่จูงใจสถาบันการเงินปล่อยกู้ 4.การชดเชยจากภาครัฐ 5.กลไกรับความเสี่ยง 6.ความไม่ครอบคลุมการแก้ปัญหาหนี้ ที่ช่วยเฉพาะเอสเอสอี แต่มาตรการใหม่จะขยายถึงรายใหญ่” นายอาคมกล่าวและว่า

2.มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ โดยผู้ประกอบการมีสิทธิซื้อทรัพย์สินคืนในภายหลัง หรือ มาตรการ “พักทรัพย์ พักหนี้” วงเงิน 1 แสนล้านบาท สำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบและต้องใช้เวลาฟื้นตัว ไม่สามารถประกอบธุรกิจปกติต่อได้ สามารถนำทรัพย์สินมาวางกับสถาบันการเงินเพื่อชำระหนี้ และหากต้องการดำเนินธุรกิจต่อก็สามารถขอเช่าทรัพย์สินไปดำเนินธุรกิจได้ โดยการนำไปขอสินเชื่อเพิ่มเติมได้ และสามารถซื้อคืนทรัพย์ได้ตามราคาที่ตกลงกัน โดยสถาบันการเงินไม่เอากำไร

แก้ปมสินเชื่อหดตัวรุนแรง

พร้อมกันนี้กระทรวงการคลังจะยกเว้นภาระภาษีอากรที่เกิดขึ้นจากการตีโอนทรัพย์ สำหรับสถาบันการเงินผู้ให้กู้และผู้ประกอบธุรกิจผู้กู้หรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกัน ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีนิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีมูลค่าเพิ่ม

รวมถึงกระทรวงมหาดไทยจะลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนจากเจ้าของทรัพย์หลักประกันให้สถาบันการเงิน รวมถึงลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนองให้ผู้ประกอบธุรกิจในกรณีที่ซื้อทรัพย์สินคืน รวมถึงการลดภาษีโรงเรือนเหลือ 0.01%

“กระทรวงการคลังเป็นห่วงธุรกิจที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ปกติ โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยว มีการบังคับซื้อโรงแรมในราคาบังคับขาย และเป็นห่วงปัญหาการขอสินเชื่อใหม่ของธุรกิจที่ใหญ่กว่าเอสเอ็มอี ซึ่งทำให้ระบบการให้สินเชื่อหดตัวรุนแรง ทั้งนี้ ภาคการท่องเที่ยวและบริการได้รับผลกระทบมากที่สุดซึ่งเป็นสัดส่วน 11.5% ต่อจีดีพี”

โดยทั้ง 2 มาตรการมีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี โดย ครม.สามารถขยายระยะเวลามาตรการออกไปได้อีก 1 ปี ในกรณีที่มีความจำเป็นและมีวงเงินเหลืออยู่ และ ครม.สามารถอนุมัติให้เกลี่ยวงเงินระหว่างมาตรการได้

ขณะที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ทั้งสองมาตรการคาดว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ราว 3.6 หมื่นบริษัท และรักษาการจ้างงานได้ถึง 8.6 แสนคน

ห่วงท่องเที่ยวใช้เวลา 5 ปีฟื้น

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า จากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะใช้เวลานานกลับมาสู่ระดับปกติได้ภายในไตรมาสที่ 3/2565 แต่การกลับมาจะไม่เป็นปกติ ทั้งการฟื้นตัวและการจ้างงานที่ไม่เท่าเทียมกัน เช่น ภาคอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวได้ดี การส่งออกซึ่งบางตัวกลับมาฟื้นตัวได้ดีกว่าก่อนโควิด-19

ขณะที่ภาคบริการยังฟื้นตัวช้าและคาดว่าใช้เวลานาน 4-5 ปี ที่จำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาได้ 40 ล้านคนต่อปี ดังนั้นมาตรการที่มีอยู่ไม่เพียงพอในระยะข้างหน้า จึงต้องออกมาตรการมาใหม่ 2 เรื่อง คือ

1.สินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจวงเงิน 2.5 แสนล้านบาท จะเน้นสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีที่ถูกกระทบแต่ยังมีศักยภาพ เป็นการปลดล็อกเรื่องสำคัญต่าง ๆ ในพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของเดิมเพื่อให้ลูกหนี้เข้าถึงได้มากขึ้น โดยขยายขอบเขตลูกหนี้ให้ครอบคลุมทั้งลูกหนี้รายเดิมและลูกหนี้รายใหม่ที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงิน พร้อมกับรองรับการฟื้นตัวที่ต้องใช้เวลา ด้วยการปรับเพิ่มวงเงินกู้ให้สูงขึ้น ขยายระยะเวลาผ่อนชำระให้ยาวขึ้น และกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เอื้อต่อการฟื้นฟูกิจการยิ่งขึ้น

นอกจากนั้นภาครัฐยังสนับสนุนกลไกการค้ำประกันสินเชื่อผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) รวมถึงยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ ธปท.สนับสนุนสภาพคล่องต้นทุนต่ำแก่สถาบันการเงินเพื่อให้เกิดการส่งผ่านสภาพคล่องไปยังกลุ่มเป้าหมาย

อุ้มธุรกิจไม่ให้ถูกบังคับขาย

2.มาตรการ “พักทรัพย์ พักหนี้” หรือ Asset Warehousing วงเงิน 100,000 ล้านบาท ช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว แต่ยังมีศักยภาพและมีทรัพย์สินเป็นหลักประกัน ด้วยการเจรจากับเจ้าหนี้สถาบันการเงินเพื่อหยุดหรือลดภาระหนี้ภายใต้เงื่อนไขสัญญามาตรฐาน

อาทิ ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิซื้อทรัพย์คืนเป็นลำดับแรกในราคาต้นทุน ภายในระยะเวลา 3-5 ปี เท่ากับราคาตีโอนบวกด้วยต้นทุนการถือครองทรัพย์ 1% ต่อปีของราคาตีโอน และต้นทุนในการดูแลรักษาทรัพย์ตามที่จ่ายจริงและสมควรแก่เหตุ

นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า ผู้ประกอบธุรกิจสามารถขอเช่าทรัพย์กลับมาดูแลหรือเปิดดำเนินการและสถาบันการเงินจะนำค่าเช่าที่ได้รับไปหักออกจากราคาที่ขายคืนทรัพย์ให้กับลูกหนี้ เพื่อช่วยรักษาโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่ถูกกดราคาบังคับขายทรัพย์ (fire sale) สามารถกลับมาสร้างงานและทำรายได้อีกครั้งเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย

ทั้งนี้ ธปท.ให้การสนับสนุนสภาพคล่องต้นทุนต่ำแก่สถาบันการเงินเท่ากับมูลค่าทรัพย์ที่สถาบันการเงินและลูกหนี้แต่ละรายตกลงร่วมกัน และภาครัฐสนับสนุนยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ 2 มาตรการจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้รองรับความเสี่ยงและสามารถปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ โดยครอบคลุมตรงจุดมากขึ้นและระยะยาวขึ้นตามสถานการณ์ฟื้นตัวที่คาดว่าจะกลับสู่ภาวะปกติ จากเดิม พ.ร.ก.เดิมอายุ 2 ปี และค้ำประกัน 2 ปี แต่มาตรการใหม่จะขยายอายุเป็น 5 ปี และค้ำประกัน 10 ปี

พ.ค.นี้เริ่มดำเนินการ

“มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ปิดแก็บมาตรการหลังจากธนาคารดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ แต่ไม่เพียงพอในบางเซ็กเตอร์ บางกลุ่มที่ไม่มีรายได้ แม้พักหนี้แต่ดอกเบี้ยวิ่งจึงไม่ตอบโจทย์ มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้จะตอบโจทย์และลดภาระลูกหนี้ได้ แต่การปิดแก็บผ่านมาตรการนี้เราก็ต้องทำควบคู่กับมาตรการอื่น ๆ ด้วย เช่น ลูกหนี้รายย่อยที่เข้าโครงการนี้ไม่ได้ แต่มีมาตรการอื่น ๆ ช่วยอยู่ ซึ่งกลไกมาตรการที่ออกแบบมาได้พูดคุยหลายหน่วยงาน มั่นใจว่าจะดำเนินการได้จริงภายในเดือนพฤษภาคมนี้” นายเศรษฐพุฒิกล่าว

ด้าน นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า กระทรวงการคลังและ ธปท.จะได้ออกประกาศ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการค้ำประกันซึ่งมีวงเงินกว่า 2.5 แสนล้านบาท โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ผู้ประกอบการเป็นหลัก ผ่านบรรษัทประกันสินทรัพย์อุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี ภาระการชดเชย 40% ของวงเงินสินเชื่อ ซึ่งในส่วนนี้รัฐบาลจะชดเชยค่าธรรมเนียมในการค้ำประกันเฉลี่ย 3.5%

สินเชื่อโรงแรม 4 แสนล้าน

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวว่า ปัจจุบันยอดสินเชื่อรวมคงค้างในกลุ่มโรงแรมมีอยู่ 4 แสนล้านบาท ซึ่งยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะเข้าโครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” เท่าใด แต่ ธปท.ได้มีการพูดคุยกับทั้งสถาบันการเงินและลูกหนี้ พบว่ามีความสนใจที่จะเข้าร่วม แต่ไม่ได้หมายความว่าลูกหนี้ทุกรายจะเข้าร่วมโครงการได้ทั้งหมด จะต้องเป็นลูกหนี้ที่มีศักยภาพและมีความตั้งใจจะกลับมาดำเนินธุรกิจต่อ และหลักทรัพย์จะต้องมีคุณภาพรักษามูลค่าได้ 3-5 ปี

“เราประเมินเม็ดเงินที่ลงไปในส่วนของการฟื้นฟูจะมีผลต่อการจ้างงานหลายแสนคน และพยุงสภาพคล่องธุรกิจเอสเอ็มอีหลายหมื่นบริษัท และช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องของจีดีพีได้พอสมควร โดยมาตรการดีไซซ์ให้ตอบโจทย์ลูกหนี้แต่ละกลุ่มที่ความต้องการไม่เหมือนกัน ซึ่งแบงก์ไม่ได้ช่วยแค่กลุ่มสีเขียวที่มีศักยภาพ แต่ช่วยกลุ่มสีส้ม เพราะหากไม่ช่วยจะกลายเป็นเอ็นพีแอลได้ในที่สุด” นางสาวสุวรรณีกล่าว