ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลัง API รายงานตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐปรับลด

+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นไปใกล้เคียงกับระดับสูงสุดในรอบ 2 ปีหลังได้รับแรงหนุนหลังรายงานของสถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานของสหรัฐฯ (API) พบว่าปรับตัวลดลงประมาณ 5.1 ล้านบาร์เรลลงไปแตะระดับ 456.8 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับตัวลดลงเพียง 1.8 ล้านบาร์เรลเท่านั้น

+ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มของกลุ่มโอเปกที่จะขยายระยะเวลาการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบออกไป หลังก่อนหน้านี้เลขาธิการกลุ่มโอเปกได้เปิดเผยว่า ประเทศซาอุดิอาระเบียและรัสเซียจะเป็นแกนหลักในการสนับสนุนการขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบออกไปอีก 9 เดือน จากกำหนดเดิมที่เดือน มี.ค. 2561

+ Reuters Survey ได้เปิดเผยข้อมูลการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปก พบว่าอัตราการลดกำลังการผลิตตามข้อตกลงปรับตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 86 ในเดือนกันยายนขึ้นมาแตะระดับร้อยละ 92 ในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นผลมาจากการผลิตน้ำมันดิบที่ลดลงจากอิรัก หลังกองทัพของอิรักได้บุกยึดแหล่งน้ำมันดิบทางตอนเหนือของประเทศคืนจากกองทัพชาวเคิร์ดในเดือนที่ผ่านมา ประกอบกับการผลิตน้ำมันดิบในประเทศเวเนซูเอร่าและแอลจีเรียก็ได้ปรับตัวลดลงด้วยเช่นกัน

– อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงกดดันจากการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯในสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 9.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และสหรัฐฯ ยังมีการส่งออกน้ำมันดิบในระดับเกือบ 2 ล้านบาร์เรลต่อวันอีกด้วย

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากสต็อกน้ำมันเบนซินในประเทศจีนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 ในเดือนกันยายน ประกอบกับมีการส่งออกน้ำมันเบนซินที่มากขึ้นจากประเทศจีนไปยังตะวันออกกลาง

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยมีปัจจัยกดดันจากการปรับเพิ่มอัตราการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันในภูมิภาค ประกอบกับประเทศจีนมีแนวโน้มเพิ่มโควต้าการส่งออกน้ำมันดีเซลในปีนี้ อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดีเซลยังคงได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในประเทศจีนทีปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.3

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 51 – 56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 57 – 62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

กลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มที่จะขยายระยะเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตราว 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมที่สิ้นสุดเดือน มี.ค. 61 ต่อไปอีกราว 3 – 9 เดือน โดยซาอุดิอาระเบียเปิดเผยว่าเป้าหมายหลักของกลุ่มคือการปรับลดปริมาณน้ำมันคงคลังของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD oil stocks) ให้กลับมาสู่ระดับปกติที่ระดับค่าเฉลี่ย 5 ปี นอกจากนี้ ซาอุฯ ยังคงหามาตรการเพิ่มเติมเพื่อรักษาสมดุลตลาดน้ำมัน หลังข้อตกลงสิ้นสุดลง

ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลงจากโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ ที่คาดจะกลับมาดำเนินการผลิต หลังมีการหยุดซ่อมบำรุงฉุกเฉินจากพายุเฮอร์ริเคน Nate รวมถึงการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง โดยล่าสุด สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 20 ต.ค.60 ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 4 สัปดาห์ที่ 1.7 ล้านบาร์เรล

จับตาปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ หลังจากผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับลดปริมาณการขุดเจาะลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน หลังจากที่ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำกว่า 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในช่วงที่ผ่านมา โดยล่าสุด Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสิ้นสุดวันที่ 27 ต.ค. ปรับลดลงกว่า 13 แท่นจากเดือนก่อนหน้า สู่ระดับ 737 แท่น ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 60