ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังโควิด-19 กลับมาระบาดหนักในยุโรป

ดอลลาร์สหรัฐ
REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังจากโควิด-19 กลับมาระบาดหนักในยุโรป ล่าสุดรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ประกาศขยายเวลาล็อกดาวน์ออกไปจนถึง 20 เมษายน หวั่นเผชิญรอบที่ 3 ขณะที่ปิดตลาดที่ระดับ 31.09/10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/3) ที่ระดับ 31.05/07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (24/3) ที่ระดับ 31.01/03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเปรียบเทียบกับค่าเงินสกุลหลัก เนื่องจากนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการขยายเวลาประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ของประเทศในสหภาพยุโรปเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ล่าสุดรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ประกาศขยายเวลาล็อกดาวน์ออกไปจนถึงวันที่ 20 เมษายน 2564 หลังพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนายกรัฐมนตรีมาร์ค รุดเตอ ได้แสดงความกังวลว่า เนเธอร์แลนด์อาจจะเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นรอบที่ 3

ซึ่งประเด็นดังกล่าวได้บดบังปัจจัยบวกจากการที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ได้กล่าวแสดงความเชื่อมั่นเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐในระหว่างการแถลงต่อสภาพคองเกรสเมื่อคืนนี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐที่มีการเปิดเผยนั้น กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ในเดือนมกราคม และต่ำกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8

ขณะที่ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน และสินค้าด้านอาวุธ โดยเป็นสิ่งบ่งชี้แผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ ปรับตัวดลงร้อยละ 0.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 ในเดือนมกราคม และต่ำกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5

นอกจากนั้น สถาบันไอเอชเอส มาร์กิต เผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 59.1 ในเดือนมีนาคม ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 59.5 ในเดือนกุมภาพันธ์

ทั้งนี้ ดัชนี PMI ยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคธุรกิจของสหรัฐมีการขยายตัว โดยได้รับแรงหนุนจากกิจกรรมในภาคบริการ ในส่วนของยอดการผลิตนั้นขยายตัวได้ไม่มากนักเพราะปัญหาด้านวัตถุดิบ

สำหรับดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐอยู่ที่ 60.0 ในเดือนมีนาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 59.8 ของเดือนกุมภาพันธ์ และดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นของสหรัฐอยู่ที่ 59.0 ในเดือนมีนาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 59.6 ในดือนกุมภาพันธ์

ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.99-31.14 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.09/10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/3) ที่ระดับ 1.1810/13 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (24/3) ที่ระดับ 1.1820/24 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐ แม้สถาบันไอเอสเอส มาร์กิต เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของสหภาพยุโรป อยู่ที่ระดับ 52.5 ในเดือนมีนาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 48.8 ในเดือนกุมภาพันธ์

สำหรับดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้นของสหภาพยุโรปอยู่ที่ 48.8 ในเดือนมีนาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 45.7 ของเดือนกุมภาพันธ์ และดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นของสหรัฐอยู่ที่ 62.4 ในเดือนมีนาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 57.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ นอกจากนั้น ทางด้านของสหราชอาณาจักร ได้เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 นี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1800-1.1811 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1805/07 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/3) ที่ระดับ 108.92/96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (24/3) ที่ระดับ 108.71/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าสอดคล้องกับการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

โดยสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกปัจจุบันนั้นทำให้นักลงทุนให้น้ำหนักกับดอลลาร์สหรัฐในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยมากกว่าค่าเงินเยนในบางสถานการณ์ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.70-109.16 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.11/12 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเยอรมันโดยสถาบันจีเอฟเค เดือนเมษายน (25/3), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศสหรัฐไตรมาส 4/2563 (25/3), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐ (25/3), ดัชนีราคาผู้บริโภคญี่ปุ่น เดือนมีนาคม (26/3),

ยอดค้าปลีกสหราชอาณาจักรเดือนกุมภาพันธ์ (26/3), ดัชนีบรรยากาศทางธุรกิจเยอรมันโดยสถาบันไอเอโอเดือนมีนาคม (26/3), ดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลสหรัฐเดือนกุมภาพันธ์ (26/3), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครัฐมิชิแกนสหรัฐ (26/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.45/0.55 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 4.50/5.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ