สรรพากรเพิ่มฐานภาษีบุคคล 5 แสนราย งัดดาต้าดึง “ผู้ค้าออนไลน์” ยื่นแบบ

ขายสินค้าออนไลน์-ภาษี

สรรพากรแจงปมร่อนจดหมายดึงกลุ่ม “ขายของออนไลน์” ยื่นภาษี ชี้นำร่องแค่หลักพันรายทดสอบระบบ “ดาต้าอนาไลติกส์” ระบุพ่อค้าแม่ค้าต้องมีรายได้เกิน 6-7 แสนบาทต่อปีถึงต้องจ่ายภาษี ประเมินผู้ที่ได้รับจดหมายต้องจ่าย 3 หมื่นบาทต่อคนโดยเฉลี่ย ยันต้องการสร้างความเป็นธรรมมากกว่าหวังรายได้ โฆษกกรมเผยยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดารอบปี’63 ตั้งเป้าขยายฐานเพิ่ม 5 แสนราย

ภาษีออนไลน์

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรเปิดเผย“ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การที่กรมสรรพากรมีการให้สรรพากรพื้นที่ ส่งหนังสือถึงผู้ที่ยังไม่ยื่นภาษีในปี 2561 และ 2562 แจ้งให้เข้ามายื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อกรมสรรพากร

ภายในวันที่ 31 มี.ค. 2564 นี้ หากพ้นกำหนดจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไปนั้น เป็นการดำเนินการตามภารกิจปกติของกรมสรรพากร เพื่อทดสอบระบบการใช้ฐานข้อมูลมาวิเคราะห์ (data analytics) ซึ่งในปีนี้เริ่มต้นส่งหนังสือไปถึงผู้เสียภาษีเป็นหลักพันรายเท่านั้น

“เราคาดว่าจะเก็บภาษีจากคนที่กรมส่งหนังสือไปรอบนี้ เฉลี่ยที่ประมาณ 3 หมื่นบาทต่อราย ถือเป็นการทดสอบระบบ ซึ่งกรมสรรพากรทำเรื่องนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ที่อยู่ในระบบภาษี กับผู้ที่ไม่ยอมเข้าสู่ระบบภาษี โดยบางคนอาจจะไม่ได้ดูว่าตัวเองมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องยื่นภาษี เราก็แจ้งเตือนไป”

แหล่งข่าวกล่าวว่า กลุ่มเป้าหมายที่กรมส่งหนังสือไปส่วนใหญ่จะเป็นผู้ค้าขายออนไลน์ โดยที่ผ่านมา กรมพยายามเชิญชวนคนกลุ่มนี้ให้เข้ามายื่นภาษีให้ถูกต้อง ซึ่งบางรายมายื่นแบบแสดงรายการภาษีแล้วก็อาจจะไม่ได้มีภาระภาษี เพราะการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการขายของออนไลน์นี้ จะคิดค่าใช้จ่ายเหมา 60% โดยกรณีผู้เสียภาษีไม่มีรายการลดหย่อนภาษีใด ๆ เลย มีแต่ค่าลดหย่อนส่วนบุคคล 60,000 บาท จะเริ่มมีภาระภาษี 1 บาทแรก หากมีรายได้ทั้งปีตั้งแต่ 525,050 บาทขึ้นไป แต่หากต่ำกว่านั้นจะไม่มีภาระภาษี (ดูตาราง)

“ขายของออนไลน์ เอาจริง ๆ แล้ว ถ้ามีค่าลดหย่อนอื่น ๆ นอกจากค่าลดหย่อนส่วนบุคคล ก็ต้องมีรายได้ 6-7 แสนบาทขึ้นไปโน่น ถึงจะต้องเสียภาษี”

นอกจากนี้ก็ต้องให้ความรู้กับกลุ่มผู้ค้าขายออนไลน์ด้วยว่า หากมีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี แล้วไม่ยื่นแบบ ถ้าถูกตรวจพบ จะต้องจ่ายทั้งภาษีที่ขาด พร้อมเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือน หรือปีละ 18% และเบี้ยปรับสูงสุด 2 เท่าของภาระภาษี ซึ่งหากเข้ามายื่นแบบเองก็สามารถใช้อำนาจอธิบดียกเว้นในส่วนเบี้ยปรับนี้ให้ได้ หรืออาจจะพิจารณาปรับแค่ 1 เท่า

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า สำหรับปี 2564 นี้ กรมสรรพากรยังได้ขยายเวลาให้ผู้ที่ยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต สามารถยื่นได้ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2564 อีกด้วย

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าว เพื่อสร้างเป็นธรรมให้แก่ผู้ที่อยู่ในระบบภาษี โดยกรมมีนโยบายเข้าไปเป็นพันธมิตรกับผู้เสียภาษีด้วยการเข้าไปเตือนคนที่ถึงเกณฑ์ต้องยื่นแบบแล้วยังไม่ยื่นแบบให้เข้ามายื่นก่อนจะหมดเขต เพราะหากเลยกำหนดเวลาแล้วจะต้องเสียภาษีที่ยังไม่ได้จ่าย พร้อมเบี้ยปรับอีก 2 เท่า และเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือน

ขณะที่นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า การที่กรมมีการส่งหนังสือถึงผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องยื่นแบบ แต่ยังไม่มายื่นแบบแสดงรายการภาษีในปี 2561 และ 2562 เป็นไปตามนโยบายของกรมสรรพากร ที่ต้องการเตือนผู้เสียภาษี เพราะบางรายอาจจะหลงลืมไป

“เนื่องจากกรมมีระบบ data analyticsจึงพบว่าผู้เสียภาษีที่มีหลักฐานการถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้ แล้วถึงเกณฑ์ที่จะต้องยื่นแบบ แต่ยังไม่ได้ยื่น กรมจึงส่งหนังสือไปเตือน เพราะกรมเข้าใจว่าผู้ที่ถึงเกณฑ์บางรายอาจจะมีการหลงลืม

แล้วกรมก็อยากจะเป็นพันธมิตรกับผู้เสียภาษีด้วย ดังนั้น หากผู้ที่ถึงเกณฑ์จะต้องยื่นแบบหลงลืม ก็จะได้เข้ามายื่นแบบให้เรียบร้อย แต่หากได้รับหนังสือแล้วยังไม่มีการเข้ามายื่นแบบ ก็จะมีการลงโทษให้เสียค่าปรับตามกฎหมาย” นางสมหมายกล่าว

สำหรับในปีภาษี 2562 ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งสิ้น 10.8 ล้านราย โดยในจำนวนนี้มีทั้งผู้ขอคืนภาษี ผู้ที่ต้องชำระภาษี และผู้ที่ไม่มีภาระภาษีต้องชำระเพิ่มเติม ส่วนในปีภาษี 2563 กรมได้ตั้งเป้าหมายขยายฐานภาษีเพิ่มขึ้น 5% จากฐานเดิม หรือคิดเป็น 5 แสนราย ซึ่งต้องติดตามต่อไป เนื่องจากมีการขยายระยะเวลายื่นแบบให้ถึงเดือน มิ.ย. 2564

“อยากเชิญชวนให้ผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์เข้ามายื่นแบบ เพราะกรมมีข้อมูลตรวจสอบได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม รวมถึงเบี้ยปรับในกรณีชำระเกินกำหนดด้วย ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเกิดความเป็นธรรมกับผู้เสียภาษีรายอื่นที่อยู่ในระบบ

ทั้งนี้ ผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องยื่นแบบนั้น หากเป็นกลุ่มผู้ที่มีเงินเดือน โสด จะต้องมีรายได้ตั้งแต่ 1.2 แสนบาท/ปีขึ้นไป ส่วนผู้ที่มีคู่สมรส ถ้ามีรายได้ 2.2 แสนบาท/ปีขึ้นไปก็จะต้องยื่นแบบ ส่วนที่เป็นฟรีแลนซ์ (อาชีพอิสระ) ถ้ามีเงินได้เกิน 6 หมื่นบาท ก็ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 แต่ยื่นแล้วจะมีภาษีต้องชำระหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนที่มี” นางสมหมายกล่าว