ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังโควิด-19 สร้างความวิตกในยุโรป

ค่าเงินบาท-ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังจากโควิด-19 สร้างความวิตกในยุโรป “เนเธอร์แลนด์” หวั่นเผชิญการแพร่ระบาดรอบที่ 3 ขณะที่ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.05/07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 22-26 มีนาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (22/3) ที่ 30.90/92 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (19/3) ที่ระดับ 30.83/85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้น หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยว่า จะไม่มีการต่ออายุโครงการผ่อนคลายด้านเงินทุนสำหรับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มีนาคมนี้ โดยเฟดประกาศในวันศุกร์ว่า เฟดจะไม่ต่ออายุโครงการผ่อนคลายด้านเงินทุนสำหรับธนาคารพาณิชย์ซึ่งใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสหรัฐ

โครงการดังกล่าวอนุญาตให้ธนาคารต่าง ๆ สามารถลดทุนหากมีการถือครองพันธบัตรและตราสารหนี้อื่น โดยธนาคารไม่ต้องนำมูลค่าของพันธบัตรและเงินฝากที่ฝากไว้กับเฟดเข้ารวมในการคำนวณอัตราส่วนโครงสร้างทางการเงิน (Leverage ratio)

ซึ่งเฟดหวังว่ามาตรการผ่อนคลายเงินทุนดังกล่าวจะช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดพันธบัตรในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 และช่วยหนุนให้ภาคธนาคารปล่อยเงินกู้มากขึ้น หลังจากที่ธนาคารต่าง ๆ ได้พากันขายพันธบัตรเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในช่วงเริ่มต้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวเหนือ 1.70% ขานรับข่าวที่ว่า เฟดจะไม่ต่ออายุโครงการผ่อนคลายเงินทุนสำหรับธนาคารพาณิชย์ โดยในช่วงปลายสัปดาห์สหรัฐค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเปรียบเทียบกับค่าเงินสกุลหลักเนื่องจากนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการขยายเวลาประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ของประเทศในสหภาพยุโรปเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

โดยล่าสุดรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ประกาศขยายเวลาล็อกดาวน์ออกไปจนถึงวันที่ 20 เมษายน 2564 หลังพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนายกรัฐมนตรีมาร์ค รุตเตอ ได้แสดงความกังวลว่า เนเธอร์แลนด์อาจจะเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นรอบที่ 3

ซึ่งประเด็นดังกล่าวได้บดบังปัจจัยบวกจากการที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ได้กล่าวแสดงความเชื่อมั่นเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ ในระหว่างการแถลงต่อสภาคองเกรสเมื่อคืนนี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐที่มีการเปิดเผยนั้น กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ในเดือนมกราคม และต่ำกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8

ขณะที่ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน และสินค้าด้านอาวุธ โดยเป็นสิ่งบ่งชี้แผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 ในเดือนมกราคม และต่ำกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5

นอกจากนั้น สถาบันไอเอชเอส มาร์กิต เผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของสหรัฐ อยู่ที่ระดับ 59.1 ในเดือนมีนาคม ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 59.5 ในเดือนกุมภาพันธ์

ทั้งนี้ ดัชนี PMI ยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคธุรกิจของสหรัฐมีการขยายตัว โดยได้รับแรงหนุนจากกิจกรรมในภาคบริการ ในส่วนของยอดการผลิตนั้นขยายตัวได้ไม่มากนัก เพราะปัญหาด้านวัตถุดิบ

สำหรับดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐอยู่ที่ 60.0 ในเดือนมีนาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 59.8 ของเดือนกุมภาพันธ์ และดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นของสหรัฐอยู่ที่ 59.0 ในเดือนมีนาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 58.6 ในเดือนกุมภาพันธ์

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวอ่อนค่าต่อ ตามทิศทางตลาดโลก โดยมีปัจจัยหลักเรื่องอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (Bond Yield) เป็นตัวชี้นำสำคัญ ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสองในประเทศไทยเริ่มบรรเทาลง

ขณะที่วัคซีนโควิด-19 ได้เข้ามาถึงไทยแล้วจำนวน 2 ล็อต และจะทยอยเข้ามาเพิ่มเติมตามแผนการจัดหาวัคซีนของไทย ขณะที่ต้องติดตามสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย หลังมีมาตรการทางการคลังที่ออกมาเพิ่มเติม เช่น โครงการคนละครึ่งเฟส 2 โครงการเราชนะ และโครงการเรารักกัน

ตลอดจนมาตรการทางการเงินที่ออกมาก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นการต่ออายุมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้, การลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำ, การลดค่างวดผ่อนชำระ รวมถึงล่าสุดการปรับเกณฑ์ลดอัตราดอกเบี้ยผิดสัญญาเงินกู้-ผิดนัดชำระหนี้

ขณะที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี พร้อมปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 64 และ 65 มาที่ 3.0% และ 4.7% ตามลำดับ

ทั้งนี้ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.80-31.19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (26/3) ที่ระดับ 31.05/07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (22/3) ที่ระดับ 1.1879/80 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (19/3) ที่ระดับ 1.1895/96 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงเช่นกัน หลังตลาดวิตกเกี่ยวกับการประกาศล็อกดาวน์รอบใหม่ในฝรั่งเศสเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นเวลา 4 สัปดาห์ใน 16 แคว้น ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโรคโควิด-19

ประกอบกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่เป็นไปอย่างล่าช้าในบางประเทศ กดดันการซื้อขายเพิ่มเติม

ขณะที่รัฐบาลเยอรมนีประกาศขยายเวลาการใช้มาตรการล็อกดาวน์ออกไปอีก 1 เดือน จนถึงวันที่ 18 เมษายน จากเดิมวันที่ 28 มีนาคมนี้ และประกาศใช้มาตรการใหม่ ๆ อีกหลายด้าน ซึ่งรวมถึงการห้ามทำกิจกรรมในที่สาธารณะในช่วงเทศกาลอีสเตอร์ โดยมีเป้าหมายที่จะลดอัตราการติดเชื้อโรคโควิด-19 ภายในประเทศ

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.17962-1.1946 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (26/3) ที่ระดับ 1.1788/90 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (22/3) ที่ระดับ 108.90/91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (19/3) ที่ระดับ 108.88/89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนยังคงเคลื่อนตัวอยู่ในกรอบแคบบริเวณกรอบบนของ 108 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือเพื่อเพิ่มเงินทุนให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ โดยมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจร้านอาหารและที่พักเป็นหลัก หลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันโรคโควิด-19

ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานการประชุมซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 20-21 มกราคม โดยระบุว่า กรรมการรายหนึ่งของ BOJ กล่าวว่า BOJ ต้องหาแนวทางในการสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมการปรับปรุงธุรกิจไปสู่ระบบดิจิทัลและสังคมที่ปลอดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งบ่งชี้ว่า แนวคิดดังกล่าวอาจกลายเป็นหนึ่งในทางเลือกด้านนโยบายในอนาคตของ BOJ

ที่ประชุม BOJ ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2564 ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนปีนี้ จะขยายตัว 3.9% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่รวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ในเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมาว่าจะขยายตัว 3.6%

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.39-109.46 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (22/1) ที่ระดับ 109.46/49 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ