ตลาดหุ้นสหรัฐผันผวน ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นหนุนดอลลาร์แข็งค่า

ภาพประกอบข่าว เงิน-ดอลลาร์

ตลาดหุ้นสหรัฐผันผวน และยอดผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นหนุนดอลลาร์แข็งค่า ขณะที่เงินบาทยังคงอ่อนค่า ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.24/25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 30 มีนาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (30/3) ที่ระดับ 31.20/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (29/3) ที่ระดับ 31.17/21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย หลังจากเครดิตสวิสและโนมูระเปิดเผยว่า ทางธนาคารอาจเผชิญการขาดทุนมูลค่ามหาศาล หลังจากบริษัท Archegos Capital ซึ่งเป็นเฮดจ์ฟันด์ของสหรัฐ ผิดนัดชำระการเพิ่มเงินประกัน (Margin Call) และส่งผลให้ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐผันผวนอย่างหนัก

ทั้งนี้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐเรียกร้องให้รัฐต่าง ๆ ระงับความพยายามในการกลับมาเปิดเมืองอีกครั้ง หลังจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของสหรัฐเตือนถึงหายนะที่กำลังจะเกิดขึ้นท่ามกลางยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้น, ผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น และยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นทวีคูณจากโรคดังกล่าวซึ่งคร่าชีวิตผู้คนในสหรัฐไปแล้วประมาณ 550,000 ราย

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยล่าสุดเมื่อคืนนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาดัลลัส เปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตรัฐเท็กซัสพุ่งขึ้น 28 จุดสู่ระดับ 48.0 ในเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บรวบรวมข้อมูลเมื่อ 17 ปีก่อน

นอกจากนี้นักลงทุนจับตาแผนการลงทุนด้านสาธารณูปโภควงเงิน 3 ล้านล้านดอลลาร์ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน โดยคาดว่าเขาจะเปิดเผยโครงการดังกล่าวในวันพุธนี้ และนักลงทุนยังรอดูตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือน มี.ค. ของสหรัฐในวันศุกร์นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 630,000 ตำแหน่งในเดือน มี.ค. และคาดว่าอัตราการว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 6.0%

ด้านปัจจัยภายในประเทศ นักลงทุนจับตามาตรการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ตได้ โดยที่ประชุม ศบศ.เห็นชอบในหลักการแนวทางการเปิดรับนักท่อเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วของจังหวัดภูเก็ต โดยมีกำหนดเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564

และ สทท.ยังเสนอให้รัฐบาลเพิ่ม “กรุงเทพฯ” ให้เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัว โดยเสนอให้เริ่มดำเนินการในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.18-31.26 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.24/25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (30/3) ที่ระดับ 1.1765/67 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (29/3) ที่ระดับ 1.1763/65 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า จากการที่นักลงทุนยังคงกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่โครงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวล่าช้า จากประเด็นเรื่องความปลอดภัยของวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ทำให้หลายภาคส่วนหยุดการฉีดวัคซีนให้ประชาชน นักลงทุนคาดว่ารัฐบาลของหลายประเทศยังต้องคงมาตรการล็อกดาวน์ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาจใช้เวลานานกว่าที่คาดไว้

ระหว่างวันค่เางินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1734-1.1774 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1740/44 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (30/3) ที่ระดับ 109.82/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (29/3) ที่ระดับ 109.76/78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ จากตัวเลขค้าปลีกที่ลดลง

โดยกระทรวงพาณิชย์ญี่ปุ่นเปิดเผยว่ายอดค้าปลีกของญี่ปุ่นลดลง 1.5% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 หลังจากที่ลดลง 2.4% ในเดือน ม.ค. และลดลง 0.2% ในเดือน ธ.ค.

อย่างไรก็ดี ยอดค้าปลีกเดือน ก.พ. ปรับตัวลงน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะร่วงลง 2.8% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.76-110.31 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.23/27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐ โดยสถาบันซีบี เดือมีนาคม (30/3), ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เดือนกุมภาพันธ์ (31/3), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อจีน เดือนมีนาคม ผ31/3), ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไทย เดือนกุมภาพันธ์ (31/3), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในกลุ่มสหราชอาณาจักร ไตรมาส 4/2563 (31/3), ดุลการค้าไทย เดือนกุมภาพันธ์ (31/3),

อัตราว่างงานเยอรมัน เดือนมีนาคม (31/3), ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ โดยกรมสถิติแรงงานสหรัฐ เดือนมีนาคม (31/3), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเขตชิคาโก เดือนมีนาคม (31/3), รายงานยอดขายที่อยู่อาศัยที่อยู่การปิดการขายสหรัฐเดือนกุมภาพันธ์ (31/3), ดัชนีภาคการผลิตขนาดใหญ่ญี่ปุ่นโดยสถาบันตังกัง ไตรมาส 1/2564 (1/4), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจีน เดือนมีนาคม (1/4),

ยอดค้าปลีกเยอรมัน เดือนกุมภาพันธ์ (1/4), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสากรรมเยอรมัน เดือนมีนาคม (1/4), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมสหภาพยุโรป เดือนมีนาคม (1/4), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมสหราชอาณาจักร เดือนมีนาคม (1/4),

จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐ (1/4), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อสหรัฐ เดือนมีนาคม (1/4), อัตราว่างงานสหรัฐเดือนมีนาคม (2/4), รายได้เฉลี่ยรายชั่วโมงสหรัฐ เดือนมีนาคม (2/4), การจ้างงานนอกภาคการเกษตรสหรัฐ เดือนมีนาคม (2/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.3/0.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 3.75/4.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ