ค่ายบัตรเครดิตลุ้น Q2 โตแรง อานิสงส์วันหยุดยาวปลุกใช้จ่ายท่องเที่ยว

ธุรกิจบัตรเครดิตตีปีกรับสัญญาณยอดใช้จ่ายผ่านบัตร Q2 พุ่ง 20-30% “ประธานชมรมธุรกิจบัตรเครดิต” คาดโตสูงสุดในปีนี้ “กสิกรไทย” คาดสเปนดิ้งกลับมาโต 20% ใกล้เคียงช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ระบาด จัดโปรฯหนุนการเติบโตในหมวดออนไลน์-ประกัน ขณะที่ “เคทีซี” ชี้เดือน มี.ค.ยอดรูดปรื๊ดโตทุกหมวด สัญญาณบวก “เทศกาลสงกรานต์-มาตรการรัฐ” หนุนหมวดท่องเที่ยวในประเทศฟื้นจากติดลบ ฟาก “อิออน” หันเจาะกลุ่ม “ข้าราชการ” พยุงยอด เหตุยังมีกำลังซื้อ-ไม่ถูกลดเงินเดือน

นางสาวพรพิมล ปฐมศักดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ไตรมาส 2 นี้ ธุรกิจบัตรเครดิตน่าจะเติบโตได้ดีขึ้นใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 โดยการใช้จ่ายผ่านบัตร (spending) คาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ 20% หรือมียอดใช้จ่ายอยู่ที่ราว 8 หมื่นล้านบาท

โดยธนาคารจะเน้นการเติบโตในหมวดออนไลน์ที่มีการเติบโตสูง ซึ่งจะสนับสนุนภาพรวมการเติบโตของยอดใช้จ่ายผ่านบัตรในปีนี้ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 9-10% หรือราว 3.5 แสนล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 3.2 แสนล้านบาท ส่วนหมวดท่องเที่ยวคาดว่ายังทรงตัว

“ฐานลูกค้าของกสิกรไทยเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ และได้รับผลกระทบน้อย จึงเห็นสัญญาณกลับมาใช้จ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะในหมวดช็อปปิ้งออนไลน์และการซื้อประกันที่ขยายตัวได้ดี ซึ่งเรามีโปรโมชั่น ‘โค้ด ลั่น มันส์ เดย์’ ให้ส่วนลด 1,000 บาท 3 เดือน เมื่อใช้จ่ายผ่านออนไลน์

ส่วนหมวดร้านอาหาร ซื้อสินค้าก็เริ่มเห็นการใช้จ่ายดีขึ้นเช่นกัน หลังจากช่วงต้นปียอดใช้จ่ายอาจจะทรุดลงไปหน่อยเพราะคนพักการใช้จ่าย เนื่องจากมีการระบาดของโควิดระลอกใหม่ แต่เดือน ก.พ.-มี.ค.เริ่มกลับมาเติบโตขึ้นชัดเจน ลูกค้าเริ่มมีความมั่นใจ ทำให้ไตรมาส 1 เราคาดว่าจะโตได้ 25% และสัญญาณการโตต่อเนื่องในไตรมาสถัด ๆ ไป” นางสาวพรพิมลกล่าว

นางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจบัตรเครดิต บมจ.บัตรกรุงไทย (เคทีซี) กล่าวว่า สเปนดิ้งน่าจะขยายตัวต่อเนื่องในไตรมาส 2 หลังจากปลายเดือน มี.ค.เริ่มเห็นสัญญาณเติบโตในทุกหมวด แม้ว่ากำลังซื้อยังไม่กลับมา 100% โดยภาพรวมสเปนดิ้งเดือน มี.ค.ขยายตัว 7% หลังจากไตรมาส 1 ติดลบไป 3%

อย่างไรก็ดี แม้ว่าไตรมาส 2 อาจจะเห็นตัวเลขการเติบโตที่ดีขึ้น แต่เนื่องจากฐานปีก่อนช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.ค่อนข้างต่ำ ดังนั้นการเติบโตที่แท้จริงอาจจะเห็นตั้งแต่เดือน มิ.ย.เป็นต้นไป

“ในไตรมาสแรก สเปนดิ้งในหมวดท่องเที่ยวของเคทีซียังติดลบอยู่ 50% ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มียอดใช้จ่าย 9,000 ล้านบาท ขณะที่ก่อนหน้านั้นในปี 2562 ยอดใช้จ่ายหมวดท่องเที่ยวของบริษัทในช่วงดังกล่าวอยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท โดยปัจจุบันสเปนดิ้งหมวดท่องเที่ยวลดลงมาอยู่อันดับ 6-7 จากเดิมที่เคยอยู่อันดับ 2 เมื่อเทียบกับทุกหมวด

อย่างไรก็ดี เริ่มเห็นสัญญาณการเดินทางภายในประเทศ เช่น การจองตั๋วสายการบิน และที่พักโรงแรม เพราะช่วงเดือน เม.ย. เป็นเทศกาลสงกรานต์มีวันหยุดยาว ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการเริ่มออกมาทำโปรโมชั่นกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงมาตรการภาครัฐ เช่น เราเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น น่าจะกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรได้พอสมควร”

นางพิทยากล่าวด้วยว่า ปี 2564 เคทีซีตั้งเป้าหมายยอดสเปนดิ้งจะเติบโตอยู่ที่ 8% หรือ 2.1แสนล้านบาท จากปี 2563 อยู่ที่ 1.74 แสนล้านบาท และปี 2562 อยู่ที่ 1.85 แสนล้านบาท โดยจะต้องตามสัญญาณเศรษฐกิจว่าจะฟื้นตัวหรือไม่ โดยปีนี้หากการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีถือว่าเป็นโบนัส เนื่องจากปีที่แล้วไม่มีการขยายตัว

“เราตามดูอยู่ว่ากำลังซื้อจะกลับมาหรือเปล่า รวมถึงแรงหนุนจากภาครัฐ ซึ่งในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. มียอดบุ๊กกิ้งท่องเที่ยวบ้าง เช่น ตั๋วเครื่องบิน จองโรงแรม เป็นต้นส่วนเดือน เม.ย.จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างทางที่เกิดขึ้น โดยเรายังเน้นกลยุทธ์ทำโปรโมชั่นต่อเนื่อง และครอบคลุมทั้งหมวดออนไลน์และออฟไลน์”

นายนันนวัฒน์ โชติวิจิตร กรรมการบริหาร บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) กล่าวว่า บริษัทจะเน้นกระตุ้นการใช้จ่ายในกลุ่มที่ยังมีกำลังซื้อ และได้รับผลกระทบน้อย เช่น กลุ่มข้าราชการ กลุ่มบุคคลทางการแพทย์ และพนักงานในโรงงานที่ไม่ถูกลดเงินเดือน ซึ่งจะมาช่วยชดเชยยอดใช้จ่ายของกลุ่มอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

โดยบริษัทจะทำแคมเปญเจาะกลุ่มข้าราชการ แม้ว่าจะไม่ใช่กลุ่มที่มียอดใช้จ่ายสูง (high spending) แต่ก็เป็นกลุ่มที่มียอดใช้จ่ายต่อเนื่องทุกเดือน เฉลี่ย 6,000-7,000 บาทต่อเดือน

“ในจังหวะที่รอเศรษฐกิจฟื้นตัว และเปิดประเทศ บริษัทจะเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าข้าราชการไปก่อน ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนฐานลูกค้าข้าราชการประมาณ 20% ของฐานลูกค้าทั้งหมด และคาดว่าสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

ภาพรวมตอนนี้กำลังซื้อยังทรง ๆ ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการเดินทางและท่องเที่ยวยังซบเซา แม้ว่าจะมีวันหยุดเทศกาล แต่ภาครัฐกำหนดไม่ให้จัดงาน และก่อนหน้านี้ คนได้ย้ายถิ่นกลับบ้านไปแล้ว ทำให้การใช้จ่ายคงไม่ได้สูงมากนัก โดยเราจะหันไปเจาะกลุ่มที่กระทบน้อยและพอมีกำลังซื้อ เราจะขยายฐานลูกค้าไปตามหน่วยงานต่าง ๆ แบบยุทธการกองโจร เน้นกลุ่มสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) ไม่เกิน 40%”

นายอธิศ รุจิรวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเนอรัล คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้ให้บริการบัตรเครดิต เซ็นทรัล เดอะวัน ในฐานะประธานชมรมธุรกิจบัตรเครดิต สมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจบัตรเครดิตในไตรมาสที่ 2 นี้ ประเมินว่าจะเห็นอัตราการเติบโตของยอดสเปนดิ้งค่อนข้างสูง โดยน่าจะเป็นไตรมาสที่มีการเติบโตสูงสุดของปีนี้ที่ 20-30% และการเติบโตจะทยอยลดลงในไตรมาสที่ 3-4

“บริษัทตั้งเป้ายอดบัตรใหม่ในปีนี้อยู่ที่ 8.2 หมื่นใบ เติบโต 5% และยอดใช้จ่ายอยู่ที่ 7.75 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 9% และตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนบัตรที่มียอดใช้จ่ายสูง หรือกลุ่ม premium จากสัดส่วน 7% เป็น 10% เนื่องจากกลุ่มนี้มียอดใช้จ่ายคิดเป็นสัดส่วน 30% ของยอดใช้จ่ายผ่านบัตรรวมทั้งหมด ซึ่งช่วยพยุงการใช้จ่ายภาพรวมไม่ให้หดตัวลงแรง จึงเป็นกลุ่มที่จะเน้นมากขึ้น”