โยนหินรื้อโครงสร้างภาษี กู้หน้า “รัฐบาลถังแตก”

หนี้-เงินบาท

วิพากษ์วิจารณ์กันสนั่นเมืองว่า รัฐบาลกำลังจะ “ขึ้นภาษี” ซึ่งเปรียบเสมือนการ “ขูดรีด” ประชาชนที่กำลังยากลำบากในท่ามกลางฝุ่นควัน “วิกฤตโควิด-19” ที่ยังไม่ทันจางหาย

เรื่องดังกล่าวฮอตขึ้นมา หลังจากกระทรวงการคลังรายงานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2564 รับทราบถึงสถานการณ์และแนวโน้มการจัดเก็บรายได้รัฐบาล รายจ่าย จนถึงฐานะการคลัง ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดให้ต้องมีการรายงาน “ความเสี่ยงทางการคลัง” ต่อ ครม.เป็นประจำทุกปี

ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้รัฐบาลจัดเก็บรายได้ภาษีต่ำกว่าเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งมาจากการออกมาตรการเลื่อน/ลด/ยกเว้นภาษี เพื่อช่วยลดภาระให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ

โดยปีงบประมาณ 2563 (ต.ค. 2562-ก.ย. 2563) ซึ่งเป็นปีที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด จนต้องมีการล็อกดาวน์ประเทศ รัฐบาลเก็บรายได้สุทธิ 2,394,076 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการไป 336,924 ล้านบาท หรือต่ำเป้า 12.3% และต่ำกว่าปีก่อน 172,032 ล้านบาท หรือลดลง 6.7%

ขณะที่ช่วง 5 เดือนแรกปีงบประมาณ 2564 (ต.ค. 2563-ก.พ. 2564) ก็พบว่ารัฐบาลเก็บรายได้สุทธิ 842,187 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการไปแล้วถึง 105,521 ล้านบาท หรือต่ำเป้า 11.1% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 145,064 ล้านบาท หรือลดลง 14.7%

อีกด้านรัฐบาลมีภาระรายจ่ายจำนวนมาก ต้องมีการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทมาเพื่อรับมือปัญหาโควิด และรองรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสคลี่คลาย ซึ่งวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทดังกล่าวก็อาจจะยังไม่เพียงพอหากเกิดการระบาดรุนแรงขึ้นมาอีก

โดยฐานะการคลังช่วง 5 เดือนแรก รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณไปแล้ว 386,810 ล้านบาท เพื่อรักษาระดับเงินคงคลังไว้ในระดับสูง จนถึง ณ สิ้นเดือน ก.พ. 2564 เงินคงคลังอยู่ที่ 516,229 ล้านบาท

ปัจจัยเหล่านี้ยิ่งทำให้ประชาชนยิ่งไม่สบายใจ จนเกิดกระแสคัดค้านอย่างหนัก และวิพากษ์วิจารณ์ทำนองว่า “รัฐบาลถังแตก” จึงต้องรีดภาษีจากประชาชน ทำให้ “นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน และ “นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง ต้องรีบออกมาสยบข่าวทันที

โดย “นายสุพัฒนพงษ์” ยืนยันว่า ไม่เห็นมีสัญญาณว่ารัฐบาลจะถังแตก ซึ่งกระทรวงการคลังเพียงแต่รายงานความเสี่ยงทางด้านการคลังจากการวิเคราะห์เท่านั้น และตนมองว่า ปัจจุบันการคลังยังไม่ได้มีความเสี่ยงที่สูงมาก โดยในอีก 2 ปีความเสี่ยงที่จะเกิด “วิกฤตการคลัง” ยังค่อนข้างต่ำ

ขณะที่ “นายอาคม” ก็ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่ได้พิจารณาปรับเพิ่มภาษีใด ๆ รวมถึงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ด้วย และการเก็บ VAT 7% ที่จะครบกำหนดสิ้นเดือน ก.ย. 2564 นี้ ก็จะยังคงอัตราเดิมออกไปอีก 1 ปีแน่นอน

“ในช่วงนี้จะไม่มีการเพิ่มอัตราภาษี VAT จะต้องให้การปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบแล้วเสร็จก่อน ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาตั้งแต่ผมเข้ามารับตำแหน่ง โดยให้ระยะเวลา 1 ปี” นายอาคมกล่าว

โดยการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบจะต้องพิจารณาการขยายฐานภาษี และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ โดยปีงบประมาณ 2564 เป็นปีแห่งการศึกษาโครงสร้างภาษี ซึ่งยังเหลือเวลาศึกษาอีก 6 เดือน และจะประเมินจัดเก็บรายได้อีกครั้ง หลังจากจบมาตรการบรรเทาภาระประชาชนด้วยการเลื่อนเวลาชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลสิ้นเดือน มิ.ย. 2564 นี้

ส่วนการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ขณะนี้กรมสรรพสามิตยังไม่ได้เสนอโครงสร้างภาษีใหม่มาให้พิจารณา

“การจัดเก็บรายได้ต่ำเป้านั้น ทุกประเทศก็เป็น เนื่องจากทั่วโลกต่างก็ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะไทยที่อาศัยการท่องเที่ยวกว่า 12% ของจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) อย่างไรก็ดี คลังยังมีรายได้หลายทาง นอกจากการจัดเก็บรายได้จากกรมภาษียังมีรายได้จากรัฐวิสาหกิจและการกู้เงินซึ่งเชื่อว่าสิ้นปีงบประมาณ 2564 มีหลายแนวทางที่จะสามารถปิดหีบงบประมาณได้” รมว.คลังกล่าว

ขณะที่ “นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ” ปลัดกระทรวงการคลังยอมรับว่า ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ภาษีต่อจีดีพีของไทยตกลงมาอยู่ที่ 14% จากที่เคยอยู่ที่ 16-17% ดังนั้น ในระยะข้างหน้ากระทรวงการคลังจะต้องปรับโครงสร้างภาษีเพื่อให้สัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้น

พร้อมกับต้องลดการขาดดุลงบประมาณลงหลังจากเศรษฐกิจฟื้นตัวจากโควิดแล้ว เพื่อให้มีโอกาสที่จะเดินไปสู่ “งบฯสมดุล” ได้

อย่างไรก็ดี หากย้อนกลับไปดู “รายงานความเสี่ยงทางการคลัง” ตั้งแต่ปี 2562 พบว่าประเด็นความเสี่ยงที่มีการวิเคราะห์ไว้ มีการระบุถึงสัดส่วนรายได้สุทธิของรัฐบาลต่อจีดีพีที่ยังคงมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยปี 2562 อยู่ที่ 15.19% ต่ำสุดในรอบ 10 ปีก่อนหน้า ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจทำให้รัฐบาลยังจัดทำนโยบายลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน พบว่าที่ผ่านมารัฐบาลพึ่งพารายได้ภาษีจาก “ฐานการบริโภค” สูงขึ้นเมื่อเทียบกับภาษีจาก “ฐานรายได้” ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 20% และการปรับขั้นอัตราและการเพิ่มค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังพบว่าการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ในระดับต่ำคิดเป็นประมาณ 6-7% ของประชากรวัยแรงงานทั้งหมดที่มีการเสียภาษีเงินได้ (อายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป) ขณะที่รายได้ประชากรวัยแรงงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ย 4.27% ในช่วง 5 ปีก่อนหน้านี้

แต่ภาระภาษีเฉลี่ยต่อหัวแรงงานเพิ่มขึ้นเพียง 2.26%รวมถึงประเทศไทยมีสัดส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อรายได้ภาษีทั้งหมดอยู่ที่ 12.33% ต่ำกว่ามาเลเซีย สิงคโปร์ และค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ G20 (ไม่รวมสหรัฐอเมริกา) ที่มีอยู่สูงถึง 24.47%

จากภาพทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลจำเป็นต้อง “ปฏิรูปโครงสร้างภาษีอย่างจริงจัง”

ที่ผ่านมาแม้จะมีการจัดเก็บจาก “ฐานทรัพย์สิน” อย่างภาษีมรดก กับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่ก็พบว่า การเก็บภาษีมรดกในปัจจุบันไม่ได้มีประสิทธิภาพนักส่วนภาษีที่ดินฯก็มีการลดอัตราจัดเก็บลงถึง 90% ของภาระภาษีที่เกิดขึ้นจริง ต่อเนื่องมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด

ดังนั้น จึงเป็นไปได้มากว่า หลัง “วิกฤตโควิด” ผ่านไปแล้ว คงได้เห็นรัฐบาลปรับขึ้นภาษีไม่ตัวใดก็ตัวหนึ่งแน่นอน