ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังวิตกโควิด-19 ระลอก 3 ในยุโรป

ดอลลาร์สหรัฐ
REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังจากวิตกโควิด-19 ระลอก 3 ในยุโรป ขณะที่ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวอ่อนค่าต่อตามทิศทางตลาดโลก นักลงทุนจับตามาตรการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวที่ภูเก็ตได้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 29 มีนาคม-2 เมษายน 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (29/3) ที่ 31.18/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (26/3) ที่ระดับ 31.07/09 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าในกรอบจำกัด จนกระทั่งในช่วงกลางสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยได้รับแรงหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือนที่ 1.776% ส่งผลให้มีแรงซื้อดอลลาร์สหรัฐอย่างต่อเนื่อง

ประกอบกับผลสำรวจของ Conference Board ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 109.7 ในเดือนมีนาคม 2564 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มเกิดการระบาดของโควิด-19 ในเดือน มีนาคม 2563 เพิ่มขึ้นจากระดับ 90.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 96.9

นอกจากนี้ ยังมีผลสำรวจของดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐพุ่งขึ้น 11.2% ในเดือนมกราคม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดในรอบ 7 ปี

อย่างไรก็ตาม ในวันพฤหัสบดี (1/4) นั้นค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกลับอ่อนค่าลง หลังสถาบัน ADP และ Moody’s Analytics ได้เปิดเผยตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐ ออกมาอยู่ที่ระดับ 517,000 ตำแหน่ง ในเดือนมีนาคม ซึ่งต่ำกว่าระดับที่คาดการณ์ที่ 525,000 ตำแหน่ง

ในขณะเดียวกันประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐได้ออกมาเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานมูลคีากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมการใช้จ่ายในระยะเวลา 8 ปี โดยมีเป้าหมายมุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐให้ฟื้นตัวในช่วงหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และจะมีการปรับขึ้นภาษีเงินได้บุคคลสู่ระดับ 28 % เพื่อเป็นทุนค่าใช้จ่ายในโครงการดังกล่าว

และดอลลาร์สหรัฐยังคงอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องในวันศุกร์ (2/4) หลังเปิดเผยตัวเลขขอสวัสดิการว่างงานที่ระดับ 719,000 ตำแหน่ง เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 680,000 ตำแหน่ง และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ปรับตัวลงสู่ระดับต่ำกว่า 1.7%

นอกจากนี้นักลงทุนยังจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนมีนาคมของสหรัฐในวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 630,000 ตำแหน่งในเดือนมีนาคม และคาดว่าอัตราการว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 6.0

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวอ่อนค่าต่อ ตามทิศทางตลาดโลก โดยมีปัจจัยหลักเรื่องอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (Bond Yield) เป็นตัวชี้นำสำคัญ ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสองในประเทศไทยเริ่มบรรเทาลง อีกทั้งนักลงทุนจับตามาตรการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ตได้

โดยที่ประชุม ศบศ.เห็นชอบในหลักการแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วของจังหวัดภูเก็ต ตามข้อเสนอของ ททท.ที่จะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนที่ได้รับการยอมรับแล้วและมีผลการตรวจไวรัสโควิด-19 เป็นลบ สามารถเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตโดยตรงผ่านเครื่องบิน และสามารถท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตได้โดยไม่ต้องกักตัว โดยมีกำหนดเริ่มต้นดำเนินการในวันที่ 1 กรกฎาคม 64

ขณะที่ในวันจันทร์ (29/3) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกที่ไม่รวมทองคำ

นอกจากนี้ความเชื่อมั่นที่สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ภายในประเทศที่มีแนวโน้มคลี่คลายลง การฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมาตรการของภาครัฐที่มีส่วนสำคัญในการพยุงกำลังซื้อของผู้บริโภค

อีกทั้ง กระทรวงการคลังจะปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยปี 2564 ใหม่ในเดือน เม.ย.นี้ เพื่อให้สอดคลัองกับสถานการณ์จริง จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 2.8% เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น ทั้งจากการส่งออก การนำเข้าสินค้าทุนและการลงทุน รวมถึงการใช้จ่ายภายในประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐ ซึ่งเป็นตัวช่วยพยุงการใช้จ่ายภายในประเทศได้เป็นอย่างดี โดยจะต้องมีการพิจารณาเครื่องชี้เศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องทั้งหมดประกอบด้วย

ทั้งนี้ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.10-31.39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (2/4) ที่ระดับ 31.29/31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (29/3) ที่ระดับ 1.1780/84 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร (26/3) ที่ระดับ 1.1790/93 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า นักลงทุนยังคงกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ประเด็นด้านความปลอดภัยของวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ทำให้หลายภาคส่วนหยุดการฉีดวัคซีนให้ประชาชน นักลงทุนคาดว่ารัฐบาลของหลายประเทศจะยังต้องคงมาตรการล็อกดาวน์ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาจใช้เวลานานกว่าที่คาดไว้ แม้ว่าในวันพฤหัสบดี (1/4) สถาบันไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยดัชนี PMI ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซน พุ่งขึ้นสู่ระดับ 62.5 ในเดือน มี.ค. จากระดับ 57.9 ในเดือน ก.พ. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 62.4

นอกจากนี้ ดัชนี PMI เดือน มี.ค.ยังทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูลในเดือน มิ.ย. 2540 อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงจับตาภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานและการใช้มาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่ในยุโรป ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อดัชนี PMI ในไม่ช้านี้

โดยยุโรปกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่สาม ส่งผลให้รัฐบาลหลายประเทศกลับมาบังคับใช้มาตรการควบคุมที่เข้มงวดอีกครั้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคบริการที่สำคัญในยูโรโซน และต้องอาศัยภาคการผลิตในการขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1702-1.1795 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (2/4) ที่ระดับ 1.1777/79 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (29/3) ที่ระดับ 109.65/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวในกรอบแคบจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (26/3) ที่ระดับ 109.48/52 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยได้รับปัจจัยกดดันจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งดึงดูดเงินทุนจากญี่ปุ่นสู่สหรัฐ

ขณะที่ในวันพฤหัสบดี (1/4) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่น (ทังกัน) ประจำไตรมาส 1/2564 ซึ่งรวมถึงผู้ผลิตรถยนต์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ดีดตัวขึ้นสู่แดนบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส และเป็นการฟื้นตัวสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ท่ามกลางความหวังที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ

อย่างไรก็ตามรัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมประกาศภาวะฉุกเฉินในพื้นที่แถบตtวันตกของจังหวัดโอซาก้า โดยจะทำให้สถานประกอบการต่าง ๆ ต้องปิดให้บริการเร็วขึ้น พร้อมขอความร่วมมือให้ประชาชนทำงานจากที่บ้านและงดกิจกรรมสังสรรค์ เช่น คาราโอเกะ เพื่อเป็นการสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ในพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในจังหวัดโอซาก้าพุ่งสูงกว่ายอดผู้ติดเชื้อของกรุงโตเกียวซึ่งที่มีประชาชนอาศัยอยู่จำนวนมากกว่า

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.36-110.96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (2/4) ที่ระดับ 110.52/52 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ