รู้ทัน ตราสารหนี้

คอลัมน์ จับช่องลงทุน

โดย พูนพิชญา ปัณฑิตานนท์ ที่ปรึกษาการลงทุนทิสโก้ เวลธ์

ในภาวะผลตอบแทนระดับต่ำ และข่าวการออกมาตรการทางภาษีสำหรับทั้งบัญชีออมทรัพย์ และกองทุนรวมตราสารหนี้ ทำให้นักลงทุนหลายท่านเริ่มหาทางออกในการหาผลตอบแทนที่มากขึ้น การซื้อหุ้นกู้หรือพันธบัตรโดยตรงรวมทั้งการซื้อกองทุนรวมตราสารหนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มผลตอบแทน กองทุนตราสารหนี้ที่นำเงินไปลงทุนต่างประเทศจึงกลายเป็นขวัญใจนักลงทุนที่ต้องการหาที่พักเงินในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับผลตอบแทนมากกว่า โดยเฉพาะกลุ่มตราสารหนี้ประเภท high-yield (credit rating ต่ำกว่า investment grade) ทำให้ท่านนักลงทุนอาจจะมีข้อสงสัยถึงสาเหตุที่ทำให้กองทุนตราสารหนี้เหล่านี้มีผลตอบแทนโดดเด่น และอาจมีคำถามต่อไปว่า กองทุนกลุ่มนี้จะสร้างผลตอบแทนมากขนาดนี้ได้ต่อไปในอนาคตได้เรื่อย ๆ หรือไม่ รวมทั้งมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด

               

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการขึ้นลงของกองทุนตราสารหนี้นั้นไม่ได้มีเพียงปัจจัย อายุคงเหลือของตราสารหนี้ (duration) กับการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในตลาด (ดอกเบี้ยลด หุ้นกู้แพงขึ้น ดอกเบี้ยขึ้น หุ้นกู้ถูกลง) ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย และการเลือกตลาดที่เข้าไปลงทุนเท่านั้น (เช่นลงทุนในกาตาร์ ตุรกี หรือจีน) แต่มีปัจจัยอื่น ๆ และแนวโน้มที่นักลงทุนควรพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบสำหรับการตัดสินใจกับการลงทุน ดังนี้

การปรับเพิ่มลด credit rating ของตราสารหนี้ >> เมื่อเวลานักลงทุนจะซื้อหุ้นกู้ ก็มักจะมีการถามถึงการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะได้การจัดเป็นชั้นดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสุขภาพทางการเงินของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้นั้น ๆ กรณีที่ไม่มีการจัดอันดับ หุ้นกู้ตัวนั้น ๆ จะถูกเรียกว่า หุ้นกู้ nonrated และหากมีการจัดอันดับแล้วได้ตั้งแต่ BBB ก็จะเรียกว่า investment grade แต่หากต่ำกว่า เช่น C, B, BB หรือต่ำกว่า ก็จะถูกเรียกเป็นภาษาที่น่าฟังว่า speculative bond, high-yield bond หรือบางคนก็เรียกว่า junk bond โดยหุ้นกู้ rating ปกติจะเทรดต่ำกว่า หรือมากกว่า par ก็ขึ้นอยู่กับอายุคงเหลือและดอกเบี้ยจ่ายของหุ้นกู้นั้น ๆ เทียบกับอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่มีการขึ้นลง แต่กับกลุ่ม high-yield ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะขาดสภาพคล่องก็มักจะเทรดต่ำกว่าราคา par เช่น หุ้นกู้อายุเหลืออีก 3 ปี เมื่อครบสัญญาจะได้คืน 1 พันเหรียญ แต่ด้วยสถานะการเงินของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ ที่ไม่สู้ดีทำให้ราคาตลาดของตราสารหนี้เหล่านี้ถูกซื้อขายต่ำกว่า par เช่นอาจจะถูกซื้อขายกันที่ 800 เหรียญเพื่อแลกกับความเสี่ยงที่ผู้ซื้อต้องรับ แต่หากสถานะทางการเงินของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้นั้น ๆ ดีขึ้น ราคาซื้อขายหุ้นกู้เหล่านี้ก็ค่อย ๆ ปรับขึ้น สะท้อนความเสี่ยงที่ลดลง และมีการเพิ่ม credit rating ตามลำดับ ทำให้ผู้ลงทุนได้รับส่วนต่างราคา (ซื้อถูกขายแพง ไม่ต่างกับการลงทุนหุ้นสามัญ) กองทุนที่ลงทุนตราสารหนี้ทั้ง high-yield และ corporate bond ที่เป็น investment grade ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2015 ต่างได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว (ค่าความเสี่ยงลดลง ราคาสูงขึ้น) อย่างไรก็ดี หากมองไปข้างหน้า ราคาตราสารหนี้เอกชนเหล่านี้เริ่มปรับขึ้นสะท้อนข้อเท็จจริงดังกล่าวไปมากแล้ว โอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนมาก ๆ ดังที่เคยเป็นมาจึงน้อยลง ดังนั้นผลตอบแทนจากนี้ไปคงไม่โดดเด่นเช่นเดิม คนที่ถืออยู่ก็ยังพอจะถือต่อได้ แต่คนที่คิดจะลงทุนเพิ่มในอนาคตอาจจะต้องพิจารณาความเสี่ยง และผลตอบแทนที่ไม่ได้มากเช่นเดิม

การลงทุนตราสารหนี้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว >> ตราสารหนี้กลุ่มนี้จะมีคุณลักษณะพิเศษ คือมีการจ่ายดอกเบี้ยอิงตามอัตราดอกเบี้ยในตลาด ซึ่งในเมืองไทยเรานั้น นักลงทุนคงอาจจะเคยได้เห็นพันธบัตรรัฐบาลที่จ่ายดอกเบี้ยตามเงินเฟ้อมาบ้างแล้ว (inflation link bond) แต่ในต่างประเทศ มีตราสารหนี้เอกชนที่มีลักษณะใกล้เคียง โดยมีหลักการคือ กองทุนรวมตราสารหนี้จะเข้าไปลงทุนในสินเชื่อบ้าน (MBS) ที่มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ตราสารหนี้ประเภทนี้จึงสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีแม้ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ดังที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ความเสี่ยงด้านเครดิตสำหรับตราสาร MBS ก็เป็นที่จับตา เพราะตราสารเหล่านี้เคยเป็นที่มาของ hamburger crisis และอีกความเสี่ยงหนึ่งคือ หากดอกเบี้ยลดลง ผู้ลงทุนจะเสียเปรียบการถือหุ้นกู้ทั่วไป

การเพิ่มลดอายุคงเหลือของตราสารหนี้ (duration) ด้วยตราสารประเภทต่าง ๆ >> นอกจากการลด duration โดยการเปลี่ยนจากการถือตราสารหนี้ระยะยาวมาเป็นระยะสั้นแบบทั่ว ๆ ไปแล้ว กองทุนตราสารหนี้บางกองมีการใช้ตราสารอนุพันธ์ หรือ ETF ที่ให้ผลตอบแทนตรงกันข้ามกับพันธบัตรรัฐบาล เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาตราสารหนี้ที่ตนเองถืออยู่แกว่งเกินไป เพื่อหวังจะเน้นรับประโยชน์จากดอกเบี้ยรับเป็นหลัก ซึ่งตราสารหนี้ระยะยาวมักให้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าระยะสั้น การถือสถานะ short ตราสารหนี้นั้น ๆ จะทำให้ราคาตราสารหนี้ที่ถือไม่ขยับแม้ดอกเบี้ยในตลาดเปลี่ยนแปลง โดยหากมองไปข้างหน้า กลยุทธ์ในลักษณะนี้ดูจะเป็นทางออกที่ดีในการลงทุนตราสารหนี้ในภาวะที่ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ส่วนความเสี่ยงคือ ราคาพรีเมี่ยมที่กองทุนต้องจ่ายเพื่อให้ได้ตราสารลักษณะดังกล่าวมาป้องกันความเสี่ยง

ดังนั้นในภาวะที่ดอกเบี้ยในต่างประเทศมีแนวโน้มจะปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องและตลาดได้มองความเสี่ยงในตลาด high-yield ลดลงไปมากแล้ว เราจึงมองว่าตราสารหนี้กลุ่มที่มีดอกเบี้ยลอยตัวและกลุ่มที่เน้นดอกเบี้ยรับ (ข้อ 2-3) ยังพอจะเป็นโอกาสในการลงทุนอยู่บ้าง ส่วนผู้ที่ลงทุนหุ้นกู้ที่เน้นประโยชน์จากการปรับขึ้นของ credit rating (ตามข้อ 1) อาจจะลองทบทวนแบ่งขายทำกำไร และปรึกษาการเงินมืออาชีพ เพื่อหากองทุนตราสารหนี้หรือกองทุนอื่น ๆ เพื่อสร้างผลตอบแทน ภายใต้ความเสี่ยงที่ท่านยอมรับได้