ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจดีเกินคาด

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเทียบเงินสกุลหลัก หลังเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจดีเกินคาด ขณะที่เงินบาททิศทางยังอ่อนค่า ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.39/40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 5 เมษายน 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/4) ที่ระดับ 31.30/31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (2/4) ที่ระดับ 3.29/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าหลังจากเมื่อคืนวันศุกร์ (2/4) ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาแข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยกระทรวงแรงงานของสหรัฐได้เปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐ ประจำเดือนมีนาคม ได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับ 916,000 ตำแหน่ง สูงกว่าที่คาดการณ์ ณ ระดับ 647,000 ตำแหน่ง พร้อมทั้งอัตราการว่างงานก็ได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 6.0% จากระดับ 6.2% ในเดือนกุมภาพันธ์

ซึ่งตัวเลขด้านแรงงานดังกล่าวถือเป็นการบ่งชี้ถึงการเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา นอกจากนี้สถาบันมาร์กิตก็ได้มีเปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของสหรัฐ ประจำเดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 64.7 ซึ่งสูงกว่า ณ ระดับคาดการณ์ที่ 61.5

ทั้งนี้นักลงทุนยังคงจับตาดูรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางของสหรัฐ ในรอบการประชุม 16-17 มีนาคมที่ผ่านมา ที่จะเปิดเผยในวันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายนนี้

ทั้งนี้ค่าเงินบาท/ดอลลาร์สหรัฐในวันนี้มีทิศทางเคลื่อนไหวในกรอบแคบ เนื่องจากตลาดเงินในแถบประทเศยุโรปและสหราชอาณาจักรได้ปิดทำการเนื่องในเทศกาลอีสเตอร์ รวมไปถึงตลาดเงินประเทศฮ่องกงและจีนก็ปิดทำการเนื่องในเทศกาลเชงเม้ง โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.30-3.40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 31.39/40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/4) ที่ระดับ 1.1765/69 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (2/4) ที่ระดับ 1.1780/83 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ และจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป

โดยสถาบันโรเบิร์ต คอช (RKI) ได้มีการเปิดเผยว่า เยอรมนียังคงกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 3 อย่างต่อเนื่อง โดย ณ วันพฤหัสบดีที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา เยอรมนีพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่จำนวน 24,300 ราย เพิ่มจากสัปดาห์ก่อนประมาณ 1,600 ราย

เช่นเดียวกับ นายโอลิวิเยร์ เวอรอง รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขฝรั่งเศส ได้ระบุว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ในฝรั่งเศสจะแตะระดับสูงสุดภายใน 7-10 วันจากนี้

โดยสำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในฝรั่งเศสพุ่งสูงเกือบ 30,000 รายต่อวันโดยเฉลี่ย โดยเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (31/3) พบผู้ติดเชื้อ 59,038 ราย ซึ่งถือเป็นยอดผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายนปีที่แล้ว โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1739-1.1771 ลอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1742/44 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/4) ที่ระดับ 110.56/58 เยน/ดอลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (2/4) ที่ระดับ 110.47/49 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินสกุลเยนอ่อนค่าจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่เปิดเผยออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ ทำให้นักลงทุนลดการถือครองสกุลเงินเยนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.51-110.74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.61/63 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ รายงานดัชนีผู้จัดากรฝ่ายจัดซื้อของสหรัฐ (5/4), รายงานรายได้เฉลี่ยในรูปแบบเงินสดของญี่ปุ่น (6/4), รายงานการใช้จ่ายภาคครัวเรือนของญี่ปุ่น (6/4), อัตราว่างงานประจำเดือนของอิตาลี (6/4), ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนจากสถาบันเซนทริคของสหภาพยุโรป (6/4), อัตราการว่างงานของสหภาพยุโรป (6/4), ตัวเลขตำแหน่งงานว่างเปิดใหม่จาก JOLs ของสหรั (6/4),

รายงานดัชนีภาพรวมทางเศรษฐกิจ (6/4), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของสหภาพยุโรป (7/4), ตัวเลขดุลการค้าของสหรัฐ (7/4), การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (8/4), ความเชื่อมั่นผู้บริโภคของญี่ปุ่น (8/4), ดัชนีราคาผู้ผลิตของสหภาพยุโรป (8/4), การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางของสหภาพยุโรป (8/4),

จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (8/4), การกล่าวสุนทรพจน์ของประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (8/4), ดัชนียอดขายปลีกพื้นฐานประจำเดือนของอิตาลี (9/4), ดุลการค้าของเยอรมนี (9/4) และ ดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐ (9/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.40/0.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 3.5/4.10 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ