SMEs ควรเตรียมความพร้อม เพื่อรับโอกาสกับท่องเที่ยววิถีใหม่อย่างไร

ท่องเที่ยว
คอลัมน์ Samrt SMES
TMB Analytics

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ได้กลับมาระบาดระลอกใหม่ในช่วงต้นปีทั้งในและต่างประเทศ ทำให้การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวสะดุดลง รวมถึงนโยบายแผนการดำเนินการท่องเที่ยวของภาครัฐ

ได้แก่ แผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศต้องชะลอออกไปจนกว่าสถานการณ์ผู้ติดเชื้อจะกลับมาดีขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจในภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวอย่างที่คาดหวังไว้

แม้ว่าปัจจุบันจะเริ่มมีการฉีดวัคซีนมากขึ้น แต่การแจกจ่ายฉีดวัคซีนในไทยและต่างประเทศต้องใช้เวลากว่าจะทำให้จะมีภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้น ดังนั้น ในปี 2564 นี้การเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวของไทย จึงขึ้นอยู่กับปริมาณนักท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก

รูปแบบพฤติกรรมการเดินทางกลับบ้านหรือการท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ จึงเป็นตัวสะท้อนให้เห็นแนวโน้มธุรกิจและการปรับตัวของธุรกิจด้วยเช่นกัน

หลังจากภาครัฐได้ประกาศแนวทางการจัดกิจกรรมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2564 ก็นับว่าเป็นข่าวดีที่ทำให้ SMEs ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวพอจะใจชื้นขึ้นมาได้บ้าง โดยเปิดโอกาสให้สามารถจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้

แต่เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะยังคงจัดได้เพียงประเพณีทางวัฒนธรรมได้แก่ การจัดพิธีสรงน้ำพระ การจัดพิธีรดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ตามประเพณีนิยม และการเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อไปท่องเที่ยวซึ่งสามารถดำเนินการได้ทุกพื้นที่

แต่ทั้งนี้ ยังคงเข้มงวดเรื่องมาตรการป้องกันโรค เว้นระยะห่าง และจำกัดจำนวนคนเข้าพื้นที่ จึงทำให้กิจกรรมด้านการท่องเที่ยวและสังสรรค์กลับมาได้ แต่ไม่เต็มรูปแบบเหมือนที่หลายฝ่ายคาดการณ์

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของนักท่องเที่ยวไทยด้วยโครงสร้างการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ (10-15 เม.ย. 2564) กิจกรรมเดินทางเพื่อท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดจะสามารถสร้างรายได้ เป็นมูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท

โดยรายได้หมุนเวียนจะกระจายเข้าสู่ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง 5 ด้าน ได้แก่ 1. ธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่ม 4,200 ล้านบาท 2.ธุรกิจที่พัก/เดินทาง 2,800 ล้านบาท 3.ธุรกิจร้านค้า/การช็อปปิ้ง1,800 ล้านบาท 4.ธุรกิจเกี่ยวกับการทำบุญไหว้พระ 900 ล้านบาท

และ 5. ธุรกิจที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในกิจกรรมอื่น ๆ อีกราว 800 ล้านบาท ในภาพรวมรายได้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ทั้งประเทศจะลดลงจากปี 2562 ประมาณ 9.1% และมีอัตราการจองห้องพักโดยรวมทั่วประเทศอยู่ที่ 60-70%

สำหรับรายได้ในระดับภูมิภาคนั้น ซึ่งประเมินจากสถิติจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทย จาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พบว่าภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคตะวันออก ยังคงได้รับความนิยมเหมือนที่ผ่านมา คาดการณ์ว่าในช่วงสงกรานต์จังหวัดที่จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนมากที่สุดคือ กรุงเทพมหานคร โดยมีมูลค่ากว่า 3,100 ล้านบาท รองลงมาคือ ชลบุรี เชียงใหม่ สงขลา และระยอง ซึ่งจะมีรายได้ 620, 580, 460 และ 380 ล้านบาท ตามลำดับ

จากการวิเคราะห์พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวในระดับมหภาค พบว่าพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไปไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวในเชิงเน้น “คุณภาพ” มากกว่า “ปริมาณ” เพราะกังวลเรื่องสุขอนามัย รูปแบบการท่องเที่ยวจะเป็นการท่องเที่ยวด้วยตนเองและมีระยะเวลาสั้นลง มากกว่าการท่องเที่ยวในรูปแบบทัวร์กลุ่มใหญ่

จากบทความนี้ TMB Analytics ขอนำเสนอ 2 ประเด็นที่ธุรกิจภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะ SMEs ควรเตรียมพร้อมเพื่อโอกาสสำหรับการท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์ หรือการท่องเที่ยวในช่วงต่อ ๆ ไป ดังนี้

1.เตรียมสถานที่ให้พร้อม แม้ว่าการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 จะเริ่มทุเลาลงตามลำดับ แต่นักท่องเที่ยวก็ยังคงมีความระมัดระวังเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงวันหยุดสงกรานต์ที่มีปริมาณคนรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก SMEs ทุกท่านจึงควรเตรียมพร้อมที่จะให้บริการตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการโดยลดการสัมผัสของสาธารณะ

เช่น การเช็คอินผ่าน QR Code Google Form หรือ การใช้เมนูอาหารแบบดิจิทัล นอกจากนี้ ควรเตรียมความพร้อมเพื่อให้ผ่านมาตรฐาน SHA (Sustainable Health Promotion and Hospital Accreditation) เป็นสิ่งที่สำคัญมากในการประกาศว่าธุรกิจของเรามีความพร้อมในการให้บริการ และใส่ใจเรื่องสุขอนามัย

2.ทำตลาดลูกค้าเดิม เสริมลูกค้าใหม่ ในช่วงที่กำลังซื้อของนักท่องเที่ยวยังมีอยู่อย่างจำกัดท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้นในช่วงสงกรานต์ การให้ข้อมูลเพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า (CRM-Customer Relationship Management) ที่เคยมาใช้บริการกับเรามีความสำคัญเทียบเท่ากับการหาลูกค้าใหม่

โดยเฉพาะการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์จากมาตรการของรัฐ และสิทธิพิเศษเพิ่มเติมจากบริการของเราเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ทันที ซึ่งหากธุรกิจได้ทำ CRM ผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เช่น LINE Official Account จะช่วยให้สามารถเข้าถึงฐานลูกค้าดั้งเดิมได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

นอกจากการรักษาฐานลูกค้าเดิมแล้ว การเตรียมความพร้อมเพื่อหาลูกค้าใหม่เช่น 1.) การทำระบบการจองที่พักและการให้บริการโดยตรงผ่านทางโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์ม ได้แก่ LINEOfficial Account และ Facebook 2.) การทำให้เว็บไซต์ของเราติดอันดับต้น ๆ ของการค้นหาผลิตภัณฑ์ และบริการ SEO (Search Engine Optimization)

โดยเพิ่มโพสต์การรีวิวบนเว็บไซต์หรือเพจ เกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวหรือบริการที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัดที่อยู่ใกล้กับธุรกิจของผู้ประกอบการ

และ 3) การมอบส่วนลดหรือสิทธิพิเศษจากการให้ลูกค้าช่วยรีวิวบริการของผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง จะช่วยสร้างการมีส่วนร่วมกับแบรนด์หรือร้านค้าผู้ประกอบการในสื่อสังคมออนไลน์ และเพิ่มโอกาสการทำให้ธุรกิจเป็นที่รู้จักในโลกออนไลน์มากขึ้นอีกด้วย

แม้ว่าสถานการณ์โควิดจะลดน้อยลงหรือไม่มีแล้ว เศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้าหรือฟื้นเร็ว ก็ใช่ว่าการขยายตัวของธุรกิจจะเป็นเรื่องง่าย เช่นเดียวกับธุรกิจ SMEs ในกลุ่มท่องเที่ยวที่ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นสิ่งสำคัญ

นอกจากนี้ ข่าวสารที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล หากธุรกิจสามารถปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้บริการลูกค้าได้ดีขึ้น (digital transformation) ได้ตาม 2 แนวทางที่กล่าวไป ร่วมกับการมีมาตรฐานการให้บริการวิถีใหม่ใส่ใจลูกค้า

จะมีศักยภาพเพิ่มโอกาสในการแข่งขันมากขึ้นอย่างแน่นอน