กนง. ประเมินจุดเสี่ยงเศรษฐกิจไทย ห่วงฐานะการเงิน ธุรกิจ-ครัวเรือน

ธปท-กนง

ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยแพร่รายงาน กนง. ประเมินจุดเสี่ยงเศรษฐกิจไทย ห่วงฐานะการเงิน “ธุรกิจ-ครัวเรือน”

วันที่ 7 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 2/2564 ที่ประชุมเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่า ในระยะข้างหน้าประมาณการเศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากหลายปัจจัย ได้แก่

(1) การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยที่อาจล่าช้าจากข้อจำกัดในการกระจายวัคซีนป้องกัน COVID-19 เช่น ความเพียงพอของวัคซีน ความกังวลของประชาชนในการฉีดวัคซีน และการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส

(2) แรงกระตุ้นจากภาครัฐอาจน้อยกว่าคาด หากมีความล่าช้าในการอนุมัติโครงการภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินฯ ที่เหลือ ซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดลงในไตรมาสที่ 3 ปี 2564

(3) ฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบจนต้องปิดกิจการ ทำให้จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น โดยธุรกิจและแรงงานจะกลับมาฟื้นตัวช้าแม้การระบาดสิ้นสุดลง (scarring effects)

และ (4) การผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนที่อาจสูงขึ้นมากภายหลังมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สิ้นสุดลง

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าและมีความแตกต่างกันมากขึ้นระหว่างภาคเศรษฐกิจ (uneven recovery) ภาครัฐจึงควรออกแบบมาตรการให้ตรงจุดและเพียงพอ รวมทั้งเร่งดำเนินมาตรการเพื่อช่วยลด scarring effects ในระบบเศรษฐกิจ โดยควรเร่งแก้ปัญหาเรื่องฐานะทางการเงินของภาคเอกชนที่มีความเปราะบางมากขึ้น ภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

รวมถึงตลาดแรงงานที่ยังอ่อนแออยู่ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป มาตรการการคลัง จึงควรเร่งเบิกจ่ายมาตรการเยียวยาและมาตรการพยุงเศรษฐกิจต่าง ๆ เพื่อรักษาความ ต่อเนื่องของแรงกระตุ้นภาครัฐ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับภาคครัวเรือน

มาตรการทางการเงินและสินเชื่อ ควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้ทั้งของลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจ รวมถึงเร่งกระจายสภาพคล่องให้ตรงจุดเพื่อช่วยลดภาระหนี้ของผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะการเร่งดำเนินมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) และโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ (asset warehousing)

ซึ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือที่ (1) สร้างแรงจูงใจให้สถาบันการเงินส่งผ่านสภาพคล่องไปสู่กลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น ตรงจุด และสอดคล้องกับปัญหาและศักยภาพของธุรกิจ

(2) ลดภาระการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยชั่วคราวให้ธุรกิจที่ต้องใช้เวลาฟื้นตัว โดยเฉพาะธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ในกรณีเลวร้ายที่สถานการณ์ไม่เป็นไปตามคาด คณะกรรมการฯ เห็นว่าภาครัฐควรเตรียมพร้อมชุดมาตรการการเงินและการคลัง (policy package) เพิ่มเติมไว้รองรับความเสี่ยงดังกล่าว โดยเฉพาะหากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางมาไทยในปี 2564 น้อยกว่าที่คาด

คณะกรรมการฯ เน้นย้ำถึงความจำเป็นของนโยบายปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่จะช่วยยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว โดยเห็นว่า ศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มต่ำลงอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งการระบาดของ COVID-19 ยังอาจซ้ำเติมปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีอยู่เดิม เช่น ปัญหาสังคมสูงวัย ความเหลื่อมล้ำของรายได้ให้เลวร้ายลง คณะกรรมการฯ จึงเน้นย้ำถึงความจำเป็นของการปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่จะช่วยยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทย

โดยเฉพาะการปรับรูปแบบการทำธุรกิจและพัฒนาทักษะแรงงาน (upskill/reskill) ให้สอดคล้องกับบริบทหลัง COVID-19 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืน และเพิ่มรายได้ประชาชนในระยะยาว ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนลดภาระหนี้สินได้เร็วยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้อภิปรายเกี่ยวกับแนวทางการผสมผสานเครื่องมือเชิงนโยบายต่าง ๆ อย่างเหมาะสม (integrated policy) เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้นและการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยคณะกรรมการฯ เห็นว่า

(1) นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องและมาตรการการเงินการคลังที่ตรงจุดจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเคลื่อนไหวกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย

(2) มาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) และมาตรการกำกับดูแลรายสถาบันการเงิน (microprudential) จะมีความสำคัญอย่างยิ่งในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน (low for long) เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง


และ (3) ภาครัฐควรเร่งผลักดันและเร่งดำเนินนโยบายเชิงโครงสร้างเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว