ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังนักลงทุนเทขายทำกำไร

ค่าเงินบาท-ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเทียบเงินสกุลหลัก หลังนักลงทุนเทขายทำกำไร อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิด-19 กทม.ยังกดดันเงินบาทต่อ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.35/37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 7 เมษายน 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/4) ที่ระดับ 31.25/27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (5/4) ที่ระดับ 31.40/41 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (6 เม.ย.) หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐชะลอตัวลง ขณะที่นักลงทุนจับตารายงานการประชุมเดือน มี.ค. ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งมีกำหนดเผยแพร่ในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทยังคงได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโวิด-19 ซึ่งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 334 ราย ประกอบด้วย ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 174 ราย และจากการค้นพบผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 153 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 7 ราย

นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 64 ที่ระบุว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง คณะกรรมการจึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ และรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัด เพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด

ทำให้ระหว่างวันมีแรงเทขายเงินบาทออกมา โดยค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยูในกรอบระหว่าง 31.27-31.35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 31.35/37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (7/4) ที่ระดับ 1.1874/76 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (5/4) ที่ระดับ 1.1745/47 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่า หลังไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงินเปิดเผยในวันนี้ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการบริการของเยอรมนีพุ่งขึ้นสู่ระดับ 51.5 ในเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 ปี โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 45.7 ในเดือน ก.พ.

นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการของยูโรโซนซึ่งเป็นตัวชี้วัดภาวะเศรษฐกิจที่น่าเชื่อถือนั้น ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 53.2 ในเดือน มี.ค. จากระดับ 48.8 ในเดือน ก.พ. และสูงกว่าการาดการณ์เบื้องต้นที่ระดับ 52.5

โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1865-1.1890 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1882/84 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/4) ที่ระดับ 109.83/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (5/4) ที่ระดับ 110.61/62 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินสกุลเยนแข็งค่าตามการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.59-09.95 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.82/83 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขดุลการค้าของสหรัฐ (7/4), การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (8/4), ความเชื่อมั่นผู้บริโภคของญี่ปุ่น (8/4), ดัชนีราคาผู้ผลิตของสหภาพยุโรป (8/4), การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางของสหภาพยุโรป (8/4),

จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (8/4), การกล่าวสุนทรพจน์ของประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (8/4), ดัชนียอดขายปลีกพื้นฐานประจำเดือนของอิตาลี (9/4), ดุลการค้าของเยอรมนี (9/4) และดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐ (9/4)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.45/0.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 2.10/3.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ