ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังเฟดส่งสัญญาณเดินหน้าผ่อนคลายการเงิน

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเทียบเงินสกุลหลัก หลังรายงานการประชุมเฟด ส่งสัญญาณเดินหน้าผ่อนคลายการเงินต่อเนื่อง ขณะที่เงินบาททิศทางยังอ่อนค่า ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.46/47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/4) ที่ระดับ 31.40/42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (6/4) ที่ระดับ 31.35/37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (7 เม.ย.) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณในการประชุมล่าสุดว่า เฟดจะยังคงสนับสนุนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างยั่งยืน

เฟดเปิดผยรายงานการประชุมของวันที่ 16-17 มี.ค. โดยระบุว่า เฟดอาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก่อนที่จะเริ่มปรับลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ ขณะเดียวกันเฟดได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสื่อสารที่ชัดเจนก่อนที่จะดำเนินการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อสินทรัพย์

รายงานการประชุมยังระบุด้วยว่า กรรมการเฟดมีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมกับย้ำว่า เฟดจะเดินหน้าใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินต่อไปจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างยั่งยืน และจนกว่าเฟดจะบรรลุเป้าหมายด้านการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ

ในการประชุมเมื่อวันที่ 16-17 มี.ค.นั้น คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMMC) ของเฟดมีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% และส่งสัญญาณว่าจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนถึงปี 2566

นอกจากนี้ เฟดยังได้ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยาตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2564 และ 2565 สู่ระดับ 6.5% และ 3.3% ตามลำดับ พร้อมกับให้คำมั่นว่าจะเดินหน้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อย่างน้อย 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือน

โดยเฟดจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ วงเงิน 8 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน และซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ในวงเงิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์

โดยค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.41-31.46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 31.46/47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/4) ที่ระดับ 1.1865/67 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (7/4) ที่ระดับ 1.1885/87 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่า ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ความวิตกเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังคงเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ และอัตราการฉีดวัคซีนที่ชะลอตัวลงในกลุ่มยูโรโซน ยังคงเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินยูโร โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1861-1.1893 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1872/73 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/4) ที่ระดับ 109.76/78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแทนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (7/4) ที่ระดับ 110.81/82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินสกุลเยนอ่อนค่าตามการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่า เฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำอีกเป็นเวลานาน

โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.44-109.91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.56/58 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหภาพยุโรป (8/4), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (8/4), การกล่าวสุนทรพจน์ของประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (8/4), ดัชนียอดขายปลีกพื้นฐานประจำเดือนของอิตาลี (9/4), ดุลการค้าของเยอรมนี (9/4), และดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐ (9/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.45/0.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 3.30/4.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ