แบงก์รัฐปรับแผน “ออกสลาก” แก้ปมสภาพคล่องล้น-ลดต้นทุนเงินฝาก

FILE PHOTO: Thai baht notes are seen at a Kasikornbank in Bangkok
REUTERS/Athit Perawongmetha/File Photo

แบงก์รัฐแก้ปมสภาพคล่องท่วม ปรับแผนออกสลากลดต้นทุน “ออมสิน” ลดอายุสลากเหลือ 1 ปี จากเดิม 3 ปี พร้อมหั่นดอกเบี้ย หนุนมีกำไรเพิ่ม 8 พันล้านบาท ฟาก “ธ.ก.ส.” ปรับลดวงเงินออกสลากปีบัญชี 2564 ลง 50% รวมถึงลดอายุสลากเหลือ 1-2 ปี จากเดิม 3-5 ปี แก้ปัญหาสภาพคล่องล้น 1.2 แสนล้านบาท หลังเศรษฐกิจไม่ดีทำให้เกษตรกรไม่กู้เงินเพิ่ม ด้าน ธอส.แจงออกแบบโปรดักต์เน้นคุมต้นทุนสลากอยู่แล้ว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สถาบันการเงินของรัฐที่มีการออกสลากออมทรัพย์ ต้องปรับแผนการออกสลากกันใหม่ เนื่องจากต้นทุนค่อนข้างสูง อย่างกรณีธนาคารออมสินมีต้นทุนสลากสูงถึงกว่า 52% ของเงินฝากทั้งหมด ถือว่าเป็นต้นทุนที่สูงและมีความเสี่ยงสูง

เนื่องจากสลากเปลี่ยนราคาทุก 3 ปี ตามระยะเวลาการถือครองที่ธนาคารกำหนด ขณะที่ผลตอบแทน หรือดอกเบี้ยที่คิดให้ลูกค้า จะแตกต่างจากการปล่อยเงินกู้ที่อัตราดอกเบี้ย MLR (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินกู้ที่มีระยะเวลา) ที่คิดอัตราเปลี่ยนเป็นรายวัน

“ทางแบงก์ออมสินก็เห็นความเสี่ยงในเรื่องดังกล่าว ตอนนี้จึงเห็นการลดระยะเวลาการถือครองสลาก หรืออายุสลาก จากเดิม 3 ปี ลงเหลือเพียง 1 ปี แล้วไม่มีดอกเบี้ย มีเพียงการลุ้นรางวัลเท่านั้น ต้นทุนของออมสินก็ถูกลง นอกจากนี้ยังมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ต้องลดวงเงินออกสลากลงถึง 50% เพราะมีสภาพคล่องส่วนเกินสูง” แหล่งข่าวกล่าว

ขณะที่แหล่งข่าวจากธนาคารออมสินกล่าวว่า การปรับการออกสลาก พร้อมกับการบริหารในเรื่องเงินฝาก ทำให้ออมสินมีกำไรจากการลดต้นทุนดังกล่าวปีละ 6,000-8,000 ล้านบาท

“แม้ออมสินจะลดต้นทุน ด้วยการลดระยะเวลาการถือครองสลาก และการไม่จ่ายดอกเบี้ย แต่ก็ยังเห็นสัญญาณความต้องการซื้อสลากของประชาชนเหมือนเดิม โดยช่วงเดือน พ.ย. 2563 ที่ผ่านมา ออมสินเปิดจำหน่ายสลากวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ก็ขายหมดภายใน 7 นาที ซึ่งคิดว่าเป็นเพราะคนไม่รู้จะนำเงินไปไหน ก็เอาเงินไปใส่ที่ปลอดภัย” แหล่งข่าวกล่าว

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ในปีบัญชี 2564 (1 เม.ย. 2564-31 มี.ค. 2565) ธนาคารจะลดการออกสลากออมทรัพย์ลง 50% เนื่องจากสภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารมีสูงมาก โดยเฉพาะเงินฝากในรูปสลากออมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงลูกค้ายังไม่เบิกเงินสินเชื่อออกมาใช้ จึงทำให้ธนาคารมีสภาพคล่องวงเงินสูงถึง 120,000 ล้านบาท

“ธ.ก.ส.มีสภาพคล่องสูงมาก จึงจำเป็นต้องลดการฝากผ่านสลากออมทรัพย์ลง โดยปีบัญชีนี้ธนาคารมีแผนออกสลากใหม่เพียง 60,000-80,000 ล้านบาทเท่านั้น และลดเวลาการรับฝากสลากให้สั้นลง เหลือเพียง 1-2 ปี จากเดิมจะเป็น 3 ปี และ 5 ปี ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพคล่องในระบบ และความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยด้วย” นายธนารัตน์กล่าว

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า การออกสลากออมทรัพย์เปรียบเสมือนการระดมทุน เพื่อนำเงินไปปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้า แต่หากเบิกจ่ายสินเชื่อไม่ได้ก็จะเป็นต้นทุนของธนาคาร โดยในปีบัญชี 2564 ธนาคารได้ปรับเป้าหมายเงินฝากเติบโตลดลงมาเหลือเพียง 25,000 ล้านบาท ส่วนเป้าหมายสินเชื่อปล่อยใหม่อยู่ที่ 69,000 ล้านบาท

“ถ้าสถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น ประชาชนก็จะไม่กล้าขอกู้เงิน และหากเพิ่มต้นทุนเงินฝากประเภทสลากออมทรัพย์เข้ามาจำนวนมาก ธนาคารก็จะมีต้นทุนสูง จึงลดการออกสลากเหลือเพียง 60,000-80,000 ล้านบาท แต่ในระยาว หรือราว 3 ปี

หากมีความจำเป็นต้องใช้เงิน ธนาคารก็นำทุนส่วนนี้มาใช้ได้ จะมีรายได้จากส่วนนี้ไปจ่ายดอกเบี้ยสลากที่ครบกำหนด แต่ถ้าไประดมมาก ๆ แล้วเอามาพักไว้ แต่สินเชื่อจ่ายไม่ออกก็จะเป็นปัญหา เพราะแบงก์ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้ลูกค้า” นายสมเกียรติกล่าว

ด้าน นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส.ไม่ได้มีต้นทุนความเสี่ยงเรื่องการจำหน่ายสลากออมทรัพย์ เนื่องจากธนาคารมีการบริหารความเสี่ยงเงินฝาก รวมถึงต้นทุนสลากของ ธอส. จะถูกกว่าระบบสลากออมทรัพย์ทั่วไป

เพราะจ่ายรางวัลไม่สูงมาก ต่างจากแบงก์อื่นที่มีการให้รางวัลที่ 1 สูงถึง 20 ล้านบาท ดังนั้น การลดต้นทุนสลากที่เป็นรางวัลที่ 1 มูลค่า 20 ล้านบาทก็ทำให้มีโอกาสที่คนจะถูกทุกงวด เพราะแบงก์ต้องขายให้หมดก่อน จึงนำมาออกรางวัล

“แต่ละแบงก์บริหารไม่เหมือนกัน การดีไซน์โปรดักต์จึงไม่เหมือนกัน เรื่องสลากออมทรัพย์ของ ธอส. เราดึงต้นทุนลง บางงวดไม่มีคนถูก ส่วนของแบงก์อื่นทุกงวดมีคนถูก จึงต้องพยายามปรับพอร์ต” นายฉัตรชัยกล่าว


นายฉัตรชัยกล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน ธอส.มีพอร์ตสลากออมทรัพย์รวมทั้งสิ้น 100,000 ล้านบาท และในปี 2564 นี้ ตั้งเป้าหมายออกสลากอีก 50,000 ล้านบาท โดยจะเป็นการขยายหน่วยไปเรื่อย ๆ ลอตละ 5,000 ล้านบาท