แก้กฎหมาย AMC ขจัดอุปสรรค “จัดการหนี้”

แบงก์ชาติรีวิวกฎหมายบริหารสินทรัพย์ เปิดฟังความเห็นภาคธุรกิจ หวังแก้ปมข้อติดขัดเพิ่มประสิทธิภาพระบบรองรับหนี้เสีย ฟากเอกชนแนะ ธปท. จัดการบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจแล้วกอดไลเซนส์ไว้เฉย ๆ ไม่ยอมทำธุรกิจ-ห้ามคนไทยเป็นนอมินีทุนต่างชาติ-แก้กฎหมายเร่งกระบวนการ “ฟ้องร้อง-บังคับคดี-ขายทอดตลาด”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาประเมินผลสัมฤทธิ์ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริษัท บริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ผ่านเว็บไซต์ ธปท. เพื่อให้การบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระบบการเงินและการแก้ไขปัญหาหนี้ภาคธุรกิจและครัวเรือนของประเทศเป็นไปอย่างครบวงจรและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยจะปิดรับข้อเสนอแนะในวันที่ 31 พ.ค. 2564

ทั้งนี้ ธปท.ระบุถึงข้อมูล ณ สิ้นปี 2563 ว่า มีบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ที่จดทะเบียนกับ ธปท.และได้เปิดดำเนินการในประเทศไทย มีการรายงานข้อมูลต่อ ธปท. จำนวน 54 ราย โดยมีสินทรัพย์รวมกันทั้งสิ้น 2.5 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่ราว 70% ของสินทรัพย์ทั้งระบบเป็น AMC ที่ถือหุ้นและบริหารงานโดยเอกชน

ซึ่งระบบ AMC มีสัดส่วนสินทรัพย์หลัก ๆ ได้แก่ เงินให้สินเชื่อและเงินลงทุนในลูกหนี้ที่รับซื้อ รับโอนมาจากสถาบันการเงิน (NPL) คิดเป็น 67% ของสินทรัพย์ทั้งหมดในระบบ AMC ซึ่งจะบริหารโดยปรับโครงสร้างหนี้ การจำหน่ายหนี้ ดำเนินคดีตามกฎหมาย และอสังหาริมทรัพย์รอการขาย (NPA) คิดเป็น 17% เงินสด เงินฝากธนาคาร และเงินลงทุนในหลักทรัพย์ 9% และที่เหลือ 7% จะเป็นสินทรัพย์อื่น

โดย AMC มีกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์รวม (ROA) เฉลี่ย 3% และแหล่งเงินในการลงทุนส่วนใหญ่จะมาจากการกู้ยืมเป็นหลัก

อย่างไรก็ดี AMC มีอุปสรรคและข้อจำกัดในการประกอบธุรกิจ เช่น หลักเกณฑ์การรับจดทะเบียนยังมีข้อจำกัดไม่เอื้อต่อการคัดกรอง AMC ที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ และไม่มีข้อกำหนดบังคับให้ AMC ต้องเริ่มทำธุรกรรมภายในระยะเวลาที่กำหนดนับตั้งแต่การจดทะเบียน

ทำให้บางแห่งจัดตั้งบริษัทแต่ขาดความพร้อมในการทำธุรกิจ ส่งผลให้ระบบ AMC ไม่สามารถรองรับการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระบบได้เท่าที่ควร

นอกจากนี้ ปัจจุบัน AMC มีขอบเขตการประกอบธุรกิจที่จำกัด โดยสามารถรับซื้อ รับโอน หรือรับจ้างบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินได้เท่านั้น ขณะที่ภาครัฐมีอำนาจในการกำกับดูแลจำกัด ทำให้มีเครื่องมือไม่เพียงพอในการกำกับดูแล ตลอดจนแนวทางคืนหนังสือจดทะเบียน AMC และเหตุแห่งการเพิกถอนการจดทะเบียนที่ไม่ชัดเจนเท่าที่ควร อาจทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติได้

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว เป็นไปตามกำหนดที่จะต้องมีการทบทวนกฎหมายทุก ๆ 5 ปี

ขณะที่ นางนวอร เดชสุวรรณ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว เป็นการทำตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ที่จะต้องมีการวิเคราะห์ผลกระทบรวมทั้งประเมินผลสัมฤทธิ์ของการบังคับใช้กฎหมาย ว่าได้ผลตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ซึ่งจะมีการประเมินผลสัมฤทธิ์ทุก 5 ปี โดยในกรณีนี้จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นเวลา 2 เดือน และหลังจากนั้น ธปท.จะรวบรวมข้อคิดเห็นมาพิจารณาและทบทวนแก้ไขเพิ่มเติมสิ่งที่เป็นอุปสรรคและข้อจำกัด แล้วเสนอต่อกระทรวงการคลัง ดำเนินตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป

“ระยะเวลาการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย จะต้องแล้วเสร็จภายใน 1 ปี หรือภายในวันที่ 31 มี.ค. 2565” นางนวอรกล่าว

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ชโย กรุ๊ป (CHAYO) กล่าวว่า สิ่งที่มองว่าเป็นข้อจำกัดและเสนอแนะให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม มีอยู่ 3 เรื่อง คือ 1.เพื่อแก้ปัญหาบริษัทที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท.ให้ทำธุรกิจ แล้วไม่แอ็กทีฟนั้น ควรจะมีข้อกำหนดให้ชัดเจนว่า อย่างน้อยต้องมีธุรกรรมเกิดขึ้นปีละครั้ง เพื่อให้มีส่วนร่วมในการแข่งขันในตลาด 2.ธปท.อาจจะกำหนดข้อห้ามไม่ให้คนไทยเป็นนอมินีบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุน เพื่อป้องกันทรัพย์สินของไทยรั่วไหล

และ 3.การแก้ไขกฎหมายให้กระบวนการตั้งแต่วิธีการฟ้องร้อง คำพิพากษา บังคับคดี และขายทอดตลาดทำได้เร็วขึ้น โดยดึงเทคโนโลยีมาใช้หรือทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เพราะหากยิ่งเก็บทรัพย์ไว้นานจะมีภาระเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเจรจาตีโอนทรัพย์ชำระหนี้ได้เร็ว จะช่วยให้ลูกค้าฟื้นตัวกลับมาได้เร็วขึ้น รวมถึงอยากให้สนับสนุนแหล่งเงินทุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำโดยตรงให้ AMC เช่น ธปท.คิดดอกเบี้ย 1-2% และธนาคารบวกเพิ่มอีก 1-2% รวมเป็น 4% จะทำให้ AMC มีเงินทุนรับซื้อหนี้ได้มากขึ้น

นายสมพร มูลศรีแก้ว ผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจ และรักษาการรองผู้จัดการใหญ่ สายจำหน่ายทรัพย์ บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) กล่าวว่า ตอนนี้ AMC ที่จดทะเบียนมีราว 60 บริษัท แต่พบว่ามีจำนวนมากที่ไม่ดำเนินธุรกิจ หรือทำธุรกรรมเพียง 1-2 ครั้ง เป็นแบบเฉพาะกิจเท่านั้น และหลังจากนั้นก็ไม่ได้ดำเนินการต่อ ซึ่ง ธปท.ควรมีข้อบังคับให้มีการดำเนินธุรกรรมภายในระยะเวลาที่กำหนด หากไม่ดำเนินธุรกรรมควรมีวันหมดอายุ หรือเพิกถอนการจดทะเบียน


“ถ้า ธปท.มีกรอบว่าหลังจดทะเบียนจะต้องดำเนินธุรกรรมภายในกี่วันให้มีความชัดเจนก็ดี เพราะเวลาเอ็นพีแอลออกมาจะมีไม่กี่รายเข้าร่วมประมูล ซึ่งสวนทางกับการขอจัดตั้งบริษัทที่มีประมาณ 60 บริษัท”