มติเอกฉันท์ “อานนท์ วังวสุ” นั่งนายกสมาคมประกันฯ สมัยที่ 2

อานนท์

สมาคมประกันวินาศภัยไทย มีมติเอกฉันท์แต่งตั้ง “อานนท์ วังวสุ” ดำรงตำแหน่ง “นายกสมาคมฯ” ต่อสมัยที่ 2 นับจากปี 64-66 เป็นนายกฯ คนที่ 26 เผย 7 เป้าหมายภารกิจ ส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยี-ปฏิรูปกฎหมาย-เตรียมพร้อมรับ IFRS17-หนุนธุรกิจขยายไปต่างประเทศ-ขยายบทบาทการลงทุน พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

วันที่ 19 เม.ย. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมประกันวินาศภัยไทย รายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทย ครั้งที่ 1/2564-2566 ในวันที่ 19 เมษายน 2564 ได้มีมติเลือก นายอานนท์ วังวสุ ดำรงตำแหน่ง นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ประจำปี 2564-2566 อย่างเป็นเอกฉันท์ ถือเป็นนายกสมาคมฯ คนที่ 26

ทั้งนี้ นายอานนท์ วังวสุ ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ ติดต่อกัน 2 วาระในปี 2556-2560 และวาระที่ 3 ในปี 2562-2564 ได้เปิดเผยถึงภารกิจที่ตั้งใจจะดำเนินการในระยะเวลา 2 ปีข้างหน้า ดังต่อไปนี้

1.การ Reposition ธุรกิจประกันวินาศภัย เพื่อให้บริษัทประกันวินาศภัยไม่เป็นเพียงแค่ผู้ที่ขายประกันภัยเท่านั้น แต่จะเป็นผู้ที่ดำเนินการด้านการบริหารความเสี่ยงมืออาชีพให้กับทุกภาคส่วนของสังคม โดยในส่วนของภาคประชาชนนั้น จะเน้นการออกแบบกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งไม่เคยเข้าถึงระบบประกันภัยมาก่อน เพื่อให้มีหลักประกันในการดำเนินชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นการช่วยลดภาระของภาครัฐในการจัดหาสวัสดิการสังคมให้กลุ่มคนดังกล่าว

สำหรับภาครัฐนั้น จะเน้นการขยายบทบาทของธุรกิจประกันวินาศภัยในการเป็นผู้บริหารความเสี่ยงและการบริหารจัดการงบประมาณด้านภัยพิบัติและสุขภาพของคนในชาติ โดยการขยายประกันภัยพืชผลไปยังพืชเศรษฐกิจต่าง ๆ เพิ่มเติมจากข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมถึงประกันภัยสุขภาพสำหรับคนในชาติ แรงงานต่างด้าว และนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศ เพื่อลดภาระของภาครัฐในอนาคต

2. การดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยการดำเนินโครงการธนาคารน้ำใต้ดินอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซากให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งถือเป็นการบริหารความเสี่ยงเชิงรุกในการสร้างความสมดุลและยั่งยืนของแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค

รวมถึงโครงการป้องกันและลดอุบัติเหตุบนท้องถนน เพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ และลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเนื่องมาจากอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งมีมูลค่าความสูญเสียเฉลี่ยเกินกว่า 5 แสนล้านบาท ในแต่ละปี

3. การส่งเสริมนวัตกรรมและการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะการสร้าง Platform กลางสำหรับการประกันภัยยานยนต์และประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลและสุขภาพ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการให้บริการกับประชาชนและลดค่าใช้จ่ายของภาคธุรกิจ ทั้งด้านการรับประกันภัยและการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และศึกษาการนำเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม โดรน และแอปพลิเคชันต่างๆ มาใช้ในการประเมินความเสียหายของพื้นที่ทางการเกษตร แทนการประเมินโดยเจ้าหน้าที่ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

4. การนำเสนอให้มีการปฏิรูปกฎหมายประกันวินาศภัยให้เหมาะสมกับ Landscape ในการประกอบธุรกิจในโลกดิจิทัล Business Model รูปแบบใหม่ ตลอดจนพฤติกรรมและความคาดหวังของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อช่วยลดภาระของภาคธุรกิจและประชาชนในการปฏิบัติ และภาระของภาครัฐในการบังคับใช้ และการผลักดันให้เกิดระบบฐานข้อมูลด้านการประกันภัย (Insurance Bureau System) โดยเร็ว

5. การเตรียมความพร้อมให้ภาคธุรกิจในการปฏิบัติตามกฎหมายซึ่งจะมีผลใช้บังคับในเวลาอันใกล้ ทั้งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 และมาตรฐานบัญชี IFRS17

6. ส่งเสริมให้มีการขยายธุรกิจประกันวินาศภัยไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน

7. ขยายบทบาทด้านการลงทุนของธุรกิจประกันวินาศภัย เพื่อสร้างเสริมรายได้ให้กับภาคธุรกิจและเป็นแหล่งทุนสำคัญของประเทศ