เงินบาทแกว่งตัวในกรอบ ตลาดจับตาสถานการณ์โควิด-ส่งออกไทย

คุมโควิดระบาด-เงินบาท

ค่าเงินบาทแกว่งตัวในกรอบ ตลาดจับตาสถานการณ์โควิด-ตัวเลขส่งออกไทย ขณะที่เงินบาทแข็งค่าก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.19/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 19 เมษายน 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/4) ที่ระดับ 31.20/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (16/4) ที่ระดับ 31.22/23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยค่าเงินดอลลาร์ได้รับแรงกดดันหลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลงอย่างรุนแรง จากการที่นักลงทุนยังเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้นในคำสัญญาของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ว่า เฟดจะยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปอีกนาน

ทั้งนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) ของรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลงแตะจุดต่ำสุดรอบ 1 เดือน ที่ 1.528% ในวันพฤหัสบดี (15/4) และฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 1.573% ในวันศุกร์ (16/4) แต่ยังคงอยู่ห่างจากจุดสูงสุดในรอบ 14 เดือนที่ทำไว้ในเดือน มี.คงที่ 1.776% ถึงแม้สหรัฐรายงานตัวเลขยอดค้าปลีกและตัวเลขตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจ กระทรวงพาณิชย์สหรับเปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านเพิ่มขึ้น 19.4% ในเดือน มี.ค. สู่ระดับ 1.739 ล้านยูนิต ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 1.613 ล้านยูนิต

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นแตะระดับ 86.5 ในเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี จากระดับ 84.9 ในเดือน มี.ค. แต่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 89.6 โดยการปรับตัวขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐ ขณะที่มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในวงกว้าง

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงรุนแรง โดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,390 ราย ทำให้จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศล่าสุดอยู่ที่ 43,742 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 104 ราย

ซึ่งสิ่งที่จะกระทบความเชื่อมั่นอย่างมีนัยสำคัญคือแนวทางและความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดหาและกระจายวัคซีนซึ่งควรเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด

นอกจากนี้กระทรวงการคลังสหรัฐประกาศให้ไทยอยู่ในรายชื่อประเทศที่ถูกจับตามองด้านอัตราแลกเปลี่ยน (Monitoring List) โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าการที่ประเทศไทยถูกจัดอยู่ใน monitoring List ของทางการสหรัฐ ในเรื่องการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ไม่มีนัยสำคัญต่อธุรกิจที่มีการค้าการลงทุนกับสหรัฐ ซึ่งภาคเอกชนไทยและสหรัฐยังคงดำเนินธุรกิจกันได้ตามปกติ

และการประเมินดังกล่าวก็ไม่กระทบต่อบทบาทของ ธปท. ในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินภายในประเทศ และเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นไปตามพันธกิจของธนาคารกลางและความเหมาะสมของสถานการณ์

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.09-31.27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.19/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (19/4) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1954/57 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/4) ที่ระดับ 1.1974/76 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

โดยนักลงทุนจับตาการประชุมนโยบยการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพฤหัสบดี (22/4) นี้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1941-1.2035 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2032/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (19/4) เปิดตลาดที่ระดับ 108.74/76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/4) ที่ระดับ 108.85/88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยกระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยรายงานเบื้องต้นว่า ยอดการส่งออกของญี่ปุ่นในเดือน มี.ค.ปรับตัวขึ้น 16.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 11.6% เนื่องจากความต้องการสินค้าญี่ปุ่นในตลาดต่างประเทศเริ่มฟื้นตัวขึ้น

ส่วนยอดการนำเข้าในเดือน มี.ค.ของญี่ปุ่นปรับตัวขึ้น 5.8% เมื่อเทียบรายปี ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 4.7% ส่งผลให้ญี่ปุ่นมียอดเกินดุลการค้าเดือน มี.ค. อยู่ที่ 6.637 แสนล้านเยน หรือประมาณ 6.11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 4.90 แสนล้านเยน

ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.00-108.76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.05/06 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (22/4) ดัชนีกิจกรรมเศรษฐกิจทั่วประเทศเดือน มี.ค.จากเฟดชิคาโก (22/4) ยอดขายบ้านมือสองเดือน มี.ค. (22/4) ดัชนีผูัจัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการ ขั้นต้นเดือน เม.ย.จากมาร์กิต (23.4) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือน เม.ย.จากมาร์กิต (23/4) ยอดขายบ้านใหม่เดือน มี.ค. (23/4)

สำหรับอัตราป้อกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.4/0.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 5.0/6.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ