ธุรกิจแบงก์ขานรับ “ดิจิทัลไอดี” ต่อยอดธุรกรรมออนไลน์เริ่มกลางปี’61

แบงก์ขานรับ “ดิจิทัลไอดี” หวังช่วยอัพเกรดงานบริการลูกค้า “กรุงศรี” เล็งต่อยอดปล่อย “สินเชื่อแบบออนไลน์” ขณะที่แบงก์กรุงเทพมองเป็นประโยชน์ทั้งการรับฝากเงิน-ขอสินเชื่อ ฟาก “อนุชิต” แจงต้องคลอดมาตรฐานกลาง-คณะกรรมการกำกับ หนุนติดต่องานภาครัฐสะดวกขึ้น ตั้งเป้าเริ่มใช้งานระบบกลางปี 2561

นายอนุชิต อนุชิตานุกูล ประธานสายพัฒนาระบบงาน ช่องทางขายและผลิตภัณฑ์ ธนาคารเกียรตินาคิน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมเพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานระบบแพลตฟอร์มยืนยันตัวตนในการเข้าทำธุรกรรมทางการเงินด้วยเทคโนโลยี (Digital ID) เป็นทางการครั้งแรก ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจดิจิทัล เนื่องจากหากไม่มีการวางโครงสร้างพื้นฐานเป็นมาตรฐานกลางไว้จะทำให้การทำธุรกรรม หรืออื่น ๆ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จะเป็นเรื่องยุ่งยาก

“ยกตัวอย่างการล็อกอิน ที่อาจจะต้องมีล็อกอินทุกอัน ถ้าไม่มีดิจิทัลไอดี หรือเวลาจะไปใช้บริการในจุดที่เขาไม่รู้จักเรา ก็ต้องไปโชว์หน้า เหมือนไปเปิดบัญชีแบงก์ หรือเวลาต่างชาติมาทำธุรกรรมกับเรา ถ้าไม่มีดิจิทัลไอดี เขาก็ต้องไปโชว์หน้า เอาพาสปอร์ตไปโชว์ ถ้าเรามีโครงสร้างพื้นฐานแล้ว เวลาจะทำธุรกรรมก็ไม่ต้องเอาตัวไปทำ ซึ่งจะไม่ใช่แค่เปิดบัญชีแบงก์อย่างเดียว เวลาติดต่องานภาครัฐก็ด้วย ไม่ต้องเอาตัวไป” นายอนุชิตกล่าว

นายอนุชิตกล่าวว่า ได้มีการเตรียมการเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว เพียงแต่เพิ่งมีการประชุมอย่างเป็นทางการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคม (ดีอี) ประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 18 ต.ค. ซึ่งหลังจากนี้จะต้องหาข้อสรุปทางด้านเทคนิคให้เสร็จภายในปี 2560 นี้ และตั้งเป้าหมายเริ่มใช้งานระบบได้กลางปี 2561

“ดิจิทัลไอดีนี้ จะทำให้ภาคธุรกิจได้รับประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่เราวางไว้ แต่ก็ต้องขึ้นกับว่า ใครพัฒนาได้เร็วด้วย เราก็ทำทางด่วนไว้ โดยเอกชนกับรัฐช่วยกันทำ กำหนดมาตรฐานกลาง และมีคณะทำงานกำกับมาตรฐานขึ้นมา ซึ่งจะมีกฎหมายหลายฉบับที่ต้องแก้อีก” นายอนุชิตกล่าว

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารอยู่ระหว่างพัฒนาให้กู้ผ่านระบบดิจิทัล (digital lending) ที่ลูกค้าสามารถขอสินเชื่อออนไลน์ได้ อย่างเช่น บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล เป็นต้น โดยหากมีการทำโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลไอดีขึ้นมาเป็นรูปแบบมาตรฐานกลาง ก็จะทำให้การบริการลูกค้ารายย่อย ทำได้ง่ายขึ้น โดยภาคธนาคารสามารถใช้ได้ทั้งการเปิดบัญชี และขอสินเชื่อ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงการทำธุรกรรมอย่างมีนัยสำคัญ

“ในไทยการพิสูจน์ตัวตนนอกเหนือจากการพบหน้า (face to face) ถือว่าทำได้ยาก เพราะมีเงื่อนไขมาก ดังนั้น หากรัฐบาลสามารถทำดิจิทัลไอดีให้เกิดขึ้นได้ จะทำให้การธุรกรรมในอนาคตง่ายขึ้น สะดวกขึ้น” นายฐากรกล่าว

นางปรัศนี อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า การมีดิจิทัลไอดี เป็นโอกาสทางธุรกิจในการขยายฐานลูกค้า ซึ่งธนาคารกรุงเทพมองไว้ 2 ช่องทาง คือ 1) เว็บไซต์ของธนาคาร และ 2) แอปพลิเคชั่นสำหรับลูกค้าใหม่ ที่จะให้ดาวน์โหลดและเปิดบัญชีใช้งานได้เลย โดยจะใช้ได้ทั้งกับบัญชีเงินฝากและสินเชื่อ อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้จะต้องดูกระบวนการให้ครบถ้วน ว่าให้มีความปลอดภัย เพราะในอนาคต ทุกอย่างจะเป็นแบบดิจิทัลทั้งหมด ตั้งแต่การสมัครไปจนถึงการใช้งาน

“ข้อดีของดิจิทัลไอดี คือ ลูกค้ามีการทำ KYC (Know Your Customer : กระบวนการรู้จักตัวตนลูกค้า) กับธนาคารที่หนึ่ง แล้วไปสนใจผลิตภัณฑ์ทางการเงินของอีกธนาคาร ก็สามารถสมัครออนไลน์ได้เลย ไม่ต้องไปทำ KYC ใหม่ กับอีกธนาคารเหมือนในปัจจุบัน ซึ่งกระบวนการนี้จะทำให้ลูกค้า และแบงก์สะดวกขึ้น” นางปรัศนีกล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคณะทำงานดิจิทัลไอดี ยังพิจารณากำหนดมาตรฐานกลางกันอยู่ รวมถึงจะใช้ข้อมูลยืนยันตัวตนลูกค้าอย่างไรบ้าง ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการศึกษาโมเดลของต่างประเทศ เช่น อินเดีย สหราชอาณาจักร เป็นต้น