“ฟิทช์” จับตาดีลเทคโอเวอร์ INTUCH ส่อกระทบโครงสร้างผู้ถือหุ้น AIS

เอไอเอส-AIS

“ฟิทช์ เรทติ้งส์” จับตาดีลเทคโอเวอร์ “INTUCH” ของ กัลฟ์ เอ็นเนอร์จีฯ ส่อกระทบโครงสร้างผู้ถือหุ้น AIS ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดของไทย

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฟิทช์ เรทติ้งส์ เปิดเผยว่า การเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH โดย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชนของไทย ได้สร้างความไม่แน่นอนต่อโครงสร้างผู้ถือหุ้นของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดของไทย

โดยฟิทช์คาดว่าจะมีการประกาศอันดับเครดิตพินิจ (Rating Watch) ของ AIS หากการเสนอซื้อหุ้น INTUCH ดังกล่าว ในที่สุด ทำให้ GULF ต้องทำการเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของ AIS ด้วย การทำการเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของ AIS จะเกิดขึ้นในกรณีที่สัดส่วนการถือหุ้นของ INTUCH โดย GULF เพิ่มขึ้นจนสัดส่วนเกินร้อยละ 50 (จาก ร้อยละ 19 ณ ปัจจุบัน) ปัจจุบัน INTUCH ถือหุ้นใน AIS ในสัดส่วนร้อยละ 41 ในขณะที่ Singapore Telecommunications Limited หรือ Singtel ถือหุ้นใน INTUCH และ AIS ในสัดส่วนร้อยละ 21 และ 23 ตามลำดับ

ทั้งนี้ กระบวนการเสนอซื้อหุ้น INTUCH ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และยังต้องได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นของ GULFและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ยังมีความไม่ชัดเจนว่า GULF จะใช้แหล่งเงินทุนจากที่ใดในการทำธุรกรรมดังกล่าวซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก และสัดส่วนการถือหุ้นของ GULF ในทั้งสองบริษัทจะอยู่ในระดับใดหลังจากธุรกรรมเสร็จสิ้น

ฟิทช์มีแนวโน้มที่จะใช้หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่ และบริษัทลูก ในการพิจารณาอันดับเครดิตของ AIS โดยพิจารณาจากความสัมพันธ์กับ GULF ในกรณีที่ GULF สามารถเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นจนมีอำนาจควบคุม AIS อันดับเครดิตปัจจุบันของ AIS พิจารณาจากอันดับเครดิตโดยลำพังของบริษัท (Standalone Credit Profile)

โดย GULF เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ของประเทศไทย และมีกระแสเงินสดที่มั่นคง จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การเข้าซื้อหุ้น INTUCH และ AIS จะเพิ่มการกระจายตัวของกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน และทำให้ฐานรายได้ของ GULF มีขนาดใหญ่ขึ้น ถึงแม้ว่าหนี้ที่ใช้ในการทำธุรกรรมดังกล่าว อาจเพิ่มแรงกดดันต่อสถานะทางการเงิน ณ ปัจจุบัน ซึ่งมีอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง

GULF มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท ในปี 2563 อยู่ในระดับต่ำกว่าของ AIS ที่ 7.7 หมื่นล้านบาท อย่างมาก ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (Net Debt to EBITDA) อยู่ที่ 8.8 เท่า เมื่อเทียบกับ AIS ที่ 1 เท่า ณ สิ้นปี 2563

การลงทุนใน AIS และ INTUCH เป็นการลงทุนระยะยาวที่สำคัญของ Singtel ถึงแม้ว่าการเสนอซื้อหุ้นข้างต้นอาจทำให้ Singtel เพิ่มความคล่องตัวทางการเงินในการสนับสนุนการลงทุน 5G ซึ่งมีความสำคัญต่อบริษัท และลดแรงกดดันต่อกระแสเงินสดสุทธิ เงินปันผลจาก INTUCH และ AIS รวมกันคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของเงินปันผลรับทั้งหมดของ Singtel และมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 5-6 ของกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ที่ปรับปรุงแล้ว (Adjusted EBITDA) ของกลุ่ม

การลงทุนดังกล่าวได้สร้างกระแสเงินสดที่มีเสถียรภาพต่อ Singtel เนื่องจากสถานะทางการธุรกิจที่แข็งแกร่งของ AIS และการแข่งขันที่ไม่รุนแรงในประเทศไทย Singtel ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดอื่น ๆ เช่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย อินโดนีเชีย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย

ซึ่งส่งผลให้การฟื้นตัวมีความล่าช้าในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้าจากมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส และการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างอุตสาหกรรมโทรศัพท์พื้นฐาน (Fixed line) และอินเตอร์เน็ทบรอดแบรนด์ ในออสเตรเลีย

ทั้งนี้ Singtel มีทางเลือกอื่นๆ ในการจัดหาแหล่งเงินทุน ซึ่งรวมถึงการขายเสาสัญญาณสื่อสารของ Singtel Optus Pty Limited การขายหุ้นของ Singpore Post และ Netlink Trust และ แผนระยะยาวในการเพิ่มรายได้จากสินทรัพย์ดิจิตอล

อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ยังไม่ได้นำแหล่งเงินทุนดังกล่าวเข้ามาประกอบการพิจาณาอันดับเครดิต เนื่องจากความไม่แน่นอนในการทำธุรกรรมและมูลค่าของธุรกรรมดังกล่าว การดำเนินนโยบายทางการเงินที่เคร่งครัด ยังคงเป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุน แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพของ Singtel เนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินอยู่ใกล้ระดับที่ฟิทช์อาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิต