ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังเฟดย้ำการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ เป็นเพียงชั่วคราว

เงินดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังเฟดย้ำการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อจะเป็นไปเพียงชั่วคราว ส่งผลให้นักลงทุนมองว่าธนาคารกลางสหรัฐยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.00%-0.25% ต่อไป ขณะที่เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 31.23/24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 20 เมษายน 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/4) ที่ระดับ 31.22/23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวทรงตัว จากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (19/4) ที่ระดับ 31.19/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเทียบเงินสกุลหลักในช่วงเช้านี้ หลังจากที่นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ ออกมาเปิดเผยว่า ตัวเลขเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นจะดำเนินไปเพียงชั่วคราว

จากถ้อยแถลงการณ์ดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนมองว่าธนาคารกลางสหรัฐจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.00%-0.25% ต่อไป

นอกจากนี้ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้กล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุม Boao Forum For Asia (BFA) ผ่านระบบออนไลน์ โดยออกมาเปิดเผยประเด็นเรื่องของความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐ ที่นักลงทุนจับตาในช่วงนี้ว่า จีนไม่ต้องการเป็นมหาอำนาจของโลก หรือต้องการแผ่ขยายอิทธิพล แม้ว่าความแข็งแกร่งของจีนจะเพิ่มมากขึ้นก็ตาม พร้อมย้ำว่าจีนจะไม่แข่งขันสะสมอาวุธกับชาติอื่น ๆ อย่างแน่นอน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นักลงทุนจับตาดูตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศอย่างใกล้ชิด จากตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศวันนี้เริ่มเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่ลดน้อยลง

ประกอบกับมาตรการของภาครัฐที่ออกมาประกาศใช้มาตรการบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2564 ที่ผ่านมานั้น ไม่ได้เข้มงวดเหมือนครั้งที่ผ่านมาในอดีต ทำให้นักลงทุนเชื่อว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในครั้งนี้น่าจะสามารถควบคุมได้

อีกทั้งวันนี้กระทรวงการคลังได้เปิดเผย ณ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยทำการเสนอต่อายุมาตรการ “เราชนะ” อีก 1-2 เดือน จากเดิมสิ้นสุดในวันที่ 31 พ.ค. 2564 เป็นสิ้นสุดเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ ซึ่งจะใช้วงเงิน 1-2 แสนล้านบาท โดยจ่ายตรงให้กลุ่มเป้าหมายที่มีรายได้น้อยและดำเนินการต่อเนื่องได้เร็ว ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา

โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.17-24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 31.23/24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (20/4) ที่ระดับ 1.2038/2039 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (19/4) ที่ระดับ 1.2032/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งวันนี้สถาบันเดสตาติกส์ได้เปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิตของเยอรมนีที่ระดับ 0.9% ซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ ณ ระดับ 0.6%

นอกจากนี้ นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพฤหัสบดี (22/4) โดยมีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรปอาจจะเปลี่ยนแปลงวงเงินในการซื้อพันธบัตรรัฐบาล โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2031/79 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2064/66 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/4) ที่ระดับ 108.21/22 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (19/4) ที่ระดับ 108.05/06 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (METI) ได้เปิดเผยตัวเลขดัชนีอุตสาหกรรมขั้นตติยะภูมิของญี่ปุ่นที่ระดับ 0.3% ซึ่งต่ำกว่า ณ ระดับคาดการณ์ที่ 0.6% อย่างไรก็ตามนักลงทุนวิตกว่า การพุ่งขึ้นของยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 อาจทำให้มีการประกาศภาวะฉุกเฉินในหลายพื้นที่ของญี่ปุ่นอีกครั้ง และจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามมา

โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.95-108.54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.44/45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ รายงานคลังสินค้าน้ำมันดิบของสหรัฐจากองค์กรข้อมูลด้านพลังงาน (21/4), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (22/4), ดัชนีกิจกรรมเศรษฐกิจทั่วประเทศเดือน มี.ค. ของสหรัฐ จากสถาบันเฟดชิคาโก (22/4), ยอดขายบ้านมือสองของสหรัฐ (22/4),

รายงานการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนของธนาคารกลางยุโรป (22/4), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นของสหรัฐจากสถาบันมาร์กิต (23/4), ยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐ (23/4), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนี (23/4) และ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของเยอรมนี (23/4)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.5-0.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 4.1/4.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ