กรุงศรี หั่นจีดีพีปีนี้เหลือ 2.2% ชี้ไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยหลัง Q2 หดตัว -0.2%

Photo by Mladen ANTONOV / AFP

วิจัยกรุงศรี ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 64 เหลือ 2.2% จาก 2.5% จากผลกระทบโควิดระบาดรอบที่ 3 กดจีดีพีหายไป 1.6% ภัยแล้ง 0.15% ชี้ไทยได้อานิสงส์การส่งออก-มาตรการกระตุ้นภาครัฐ ลั่นไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค หลังไตรมาส 2 คาดหดตัว -0.2% ต่อเนื่องจากไตรมาส 1 หดตัว -0.8%

วันที่ 21 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วิจัยกรุงศรี มองว่า การระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 แพร่กระจายเร็วไปทั่วประเทศ อาจทำให้เศรษฐกิจในไตรมาส 2 เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค (technical recession) เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กลับมารุนแรงขึ้นอีกครั้งในช่วงต้นเดือนเมษายน และมีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปยังหลายจังหวัด

โดยก่อนช่วงเทศกาลวันหยุดยาวสงกรานต์ทางการได้กำหนดให้พื้นที่ 9 จังหวัด (รวมกรุงเทพมหานคร) เป็นพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม หลังจากสิ้นสุดวันหยุดยาว การแพร่ระบาดได้ขยายเป็นวงกว้างไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งสูงกว่าเมื่อเทียบกับการระบาดในรอบที่ผ่าน ๆ มาและทำสถิติสูงสุดอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดทางการประกาศยกระดับให้พื้นที่ 18 จังหวัด (รวมกรุงเทพฯ) ปรับขึ้นเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) และกำหนดให้อีก 59 จังหวัดที่เหลือเป็นพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือในการเว้นระยะห่างทางสังคม และการทำงานจากที่บ้านทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนเพื่อจำกัดและลดกิจกรรมที่จะสร้างหรือเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน เบื้องต้นเป็นเวลา 2 สัปดาห์

ดังนั้น วิจัยกรุงศรี จึงประเมินการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มล่าช้าและชะลอลงจากคาดการณ์เดิม โดยส่วนใหญ่ที่ลดลงเป็นผลกระทบจากการระบาดรอบที่ 3 ของโรคโควิด-19 ซึ่งจากแบบจำลองสถานการณ์การแพร่ระบาดของวิจัยกรุงศรี ชี้ให้เห็นว่าจากค่ามัธยฐานของประมาณการ (Median forecast) จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศรายวันในการระบาดรอบล่าสุดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม

โดยอาจมีจำนวนสูงถึง 2,600 รายต่อวัน และทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศสูงเกินกว่าระดับ 100,000 ราย ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ก่อนจะทยอยปรับลดลงมาต่ำกว่า 100 รายต่อวันในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม

ภายใต้สถานการณ์ระบาดดังกล่าว วิจัยกรุงศรีประเมินว่าทางการจะดำเนินมาตรการควบคุมแบบ Soft lockdown เป็นเวลา 2 เดือน ทำให้เศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 จึงอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค โดยคาดว่าจะหดตัวที่ -0.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยติดลบต่อเนื่องจากไตรมาสแรกที่คาดไว้จะหดตัว -0.8% และหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจีดีพีในไตรมาส 2 จะขยายตัวที่ 6.5% ลดลงจากเดิมเคยคาดไว้ที่ 8.2%

ล่าสุดวิจัยกรุงศรีจึงปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 2564 ลงเหลือขยายตัว 2.2% จากเดิมคาด 2.5% ผลกระทบจากการแพร่ระบาดในรอบใหม่จะส่งผลต่อจีดีพี ไทยปีนี้ลดลงไป 1.6 % นอกจากนี้ ผลกระทบจากภัยแล้งคาดว่าจะทำให้การเติบโตของจีดีพีลดลงไปอีก 0.15%

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหนุนจากภาคส่งออกที่มีแนวโน้มเติบโตดีเกินคาดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าจะช่วยเพิ่มการเติบโตของจีดีพีไทยได้ 0.3% รวมถึงมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการระบาดในช่วงต้นปีมีจำนวนเม็ดเงินมากกว่าที่ประมาณการไว้ และคาดว่าทางการยังมีแนวโน้มที่จะดำเนินมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมในระยะข้างหน้าเพื่อรองรับผลกระทบของการระบาดในรอบใหม่ล่าสุดอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท ผลเชิงบวกของมาตรการเหล่านี้รวมแล้วคาดว่าจะสามารถเพิ่มการเติบโตของจีดีพี ได้ 1.2%

ดังนั้น เมื่อรวมจากทุกๆ ปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น ผลกระทบสุทธิโดยรวมต่อการเติบโตของจีดีพีในปี 2564 จึงคาดว่าจะลดลงจากประมาณการครั้งก่อน 0.25%