หนี้ครัวเรือนไทยพุ่ง 86.6% “อาคม” แนะ 5 เรื่อง พัฒนาตลาดเงิน-ตลาดทุน

หนี้-เงินบาท

รมว.คลัง ชี้สถานะการเงินคนไทยเปราะบาง ช่วงโควิดหนี้ครัวเรือนพุ่ง 86.6% เปิด 4 ประเด็นต้องติดตาม พร้อมแนะ 5 แนวทางพัฒนาตลาดเงิน-ตลาดทุน

วันที่ 22 เมษายน 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานเปิดโครงการ Happy Money สุขเงิน สร้างได้ พลังความร่วมมือฟื้นฟูและสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเงินสำหรับคนไทย ในหัวข้อ “ฟื้นฟูการเงินภาคครัวเรือนไทย ภารกิจร่วมใจสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเงิน (Financial Literacy)” ว่า สถานการณ์การเงินของประเทศไทยมีประเด็นที่ต้องติดตามอย่างน้อย 4 ประเด็น

ได้แก่ 1.หนี้ครัวเรือนไทย ซึ่งในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2562 มีสัดส่วนต่อจีดีพี 78.9% ถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศต่าง ๆ แต่เมื่อได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สัดส่วนจึงเพิ่มขึ้นเป็น 86.6% ในไตรมาส 3 ของปี 2563 สะท้อนให้เห็นความเปราะบางของสถานะการเงินคนไทย เมื่อต้องเผชิญภาวะวิกฤต

2.ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยสมบูรณ์ โดยคาดว่าในปี 2566 สัดส่วนผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จะคิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งจากสถิติผู้สูงอายุของไทย ณ วันที่ 31 ธ.ค.63 พบว่ามีจำนวนประชากรผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป รวมกว่า 11.6 ล้านคน คิดเป็น 17.6% โดยการดูแลผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม ควรมุ่งให้คนไทยเตรียมความพร้อมสู่การเป็นสูงวัย เช่น การออมเงินตั้งแต่วัยทำงาน เพื่อใช้จ่ายในวัยเกษียณ

อย่างไรก็ดี จากข้อมูลการสำรวจประชากรของประเทศไทย เมื่อปี 2560 พบว่า ช่วงหลังเกษียณ ผู้สูงอายุประมาณ 34.7% ต้องพึ่งพารายได้หลักจากบุตรหลาน อีกประมาณ 31% ยังคงต้องทำงานเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงดูตัวเอง มีเพียง 2.3% เท่านั้น ที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ โดยมีรายได้จากเงินออม สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยจำนวนไม่น้อยมีความเสี่ยงที่ต้องเผชิญภาวะความทุกข์ยากในวัยเกษียณ

3.ผลการสำรวจการออมภาคครัวเรือนไทย เมื่อไตรมาส 3 ของปี 2561 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า 5.8 ล้านครัวเรือนไทย หรือ 27.1% ไม่มีเงินออม และครัวเรือนที่มีเงินออม มีเพียง 15.7 ล้านครัวเรือน หรือ 72.9% อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาถึงวิธีการออม พบว่าคนไทย 38.9% มีพฤติกรรมการใช้ก่อนออม ขณะที่คนไทย 38.5% ออมไม่แน่นอน และที่เหลืออีก 22.6% มีพฤติกรรมออมก่อนใช้

และ 4.เมื่อประกอบกับผลการสำรวจทักษะทางการเงินไทย จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นการสำรวจตามแนวทางขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ในองค์ประกอบ 3 ด้าน ได้แก่ ความรู้ ด้านการเงิน พฤติกรรมการเงิน และทัศนะคติทางการเงิน ก็พบว่าคะแนนด้านความรู้ทางด้านการเงินของคนไทยทำมากกว่าด้านอื่น และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศที่ทำการสำรวจปัญหาเหล่านี้ เป็นผลสะท้อนจากปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งในเชิงโครงสร้างและปัจเจกบุคคล

“แนวนโยบายในช่วงต่อไปที่ต้องดูแล ภายใต้กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ได้ระบุถึงการสร้างสังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาคไว้เป็นหนึ่งในภารกิจของการพัฒนาที่ต้องให้ความสำคัญ ให้ประเทศไทยก้าวสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเป้าลดความเหลื่อมล้ำกระจายโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจ ลดความยากจนข้ามรุ่นเพื่อให้ประชาชนสามารถขยับฐานะและได้รับการคุ้มครองทางสังคมอย่างเหมาะสม”

ส่วนแนวทางการพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุนในระยะต่อจากนี้ไป จะต้องให้ความสำคัญใน 5 เรื่อง ได้แก่ 1.การสร้างโครงสร้างและกลไกเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนา หรือที่เราเรียกว่าเป็นอีโคซิสเต็มส์ของตลาดเงินและตลาดทุน โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างปลอดภัย รวมทั้งการกำกับดูแลให้ระบบการเงินและตลาดทุนมีความมั่นคง

2.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีทักษะที่จำเป็นต่าง ๆ ให้เป็นพื้นฐานต่อยอดเรียนรู้และการสร้างโอกาส เพื่อให้สามารถดูแลรับผิดชอบตนเองได้ 3.การเผชิญกับสถานการณ์ของ โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดการปรับตัวของประชาชนให้ต้องปรับตัวจากผลกระทบในด้านการใช้ชีวิตการทำงาน และเศรษฐกิจ ส่วนในอีกด้านหนึ่งต้องเกิดการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการเตรียมพร้อมและการบริหารจัดการความเสี่ยงในชีวิตจากเหตุการณ์ที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน ควรเปิดพื้นฐานการเตรียมการเพื่อลดความเสี่ยง ให้เกิดทักษะที่จะบริหารจัดการเงินให้เกิดความพร้อมที่จะรับกับสภาพความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้

4. การเร่งฟื้นฟูและสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน ต้องให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนทัศนคติ และพฤติกรรมในเชิงบวกต่อเรื่องการเงินและการออมด้วย เพื่อให้เกิดผลจริงสามารถช่วยตอบโจทย์ในการเสริมสร้างศักยภาพของคนไทยให้สามารถดูแลตนเองได้อย่างยั่งยืน ควรจะได้รับการเตรียมความพร้อมด้านความรู้ความเข้าใจ เพื่อให้ทันต่อโลกการเงินและการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป

และ 5. ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายระดับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการให้ความรู้ทางด้านการเงิน มีการประสานงานแลกเปลี่ยนกันในการพัฒนาเนื้อหาการขยายวงการเรียนรู้ และแบ่งปันประสบการณ์เพื่อให้เกิดผลที่คาดหวังกับกลุ่มเป้าหมายของแต่ละหน่วยงาน

“เรื่องที่กล่าวมาข้างต้น จะช่วยยกระดับความรู้การจัดการการเงินของคนไทยได้มากขึ้น ตามวัตถุประสงค์โครงการ Happy Money สุขเงิน สร้างได้ พลังความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูและสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเงิน สำหรับคนไทยจึงเป็นโครงการที่เกิดขึ้นในช่วงที่เหมาะสม

เพราะการฟื้นฟูเศรษฐกิจจะต้องทำควบคู่กับการสร้างศักยภาพของประชาชนรวม ทั้งต้องเร่งร่วมมือกันทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดผลในวงกว้างและรวดเร็วได้กันมาร่วมมือกันของหน่วยงานต่างๆ เพื่อแสดงเจตนาที่จะสร้างความตำหนักรู้เรื่องการวางแผนทางการเงินให้กับประชาชน โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาตลาดทุนไทยที่รัฐบาลและกระทรวงการให้ความสำคัญในระดับนโยบาย”