คำต่อคำ กฤษฎา : ปลัดคลัง เคลียร์ปมใส่เงินชุบชีวิต “การบินไทย”

กฤษฎา จีนะวิจารณะ
กฤษฎา จีนะวิจารณะ
สัมภาษณ์พิเศษ

ทุกฝ่ายต่างจับตาถึงอนาคตของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ว่า จะเดินหน้าแผนฟื้นฟูกิจการได้สำเร็จหรือไม่ โดยจังหวะก้าวที่สำคัญอีกวันหนึ่งอยู่ที่การประชุม “เจ้าหนี้” ในวันที่ 12 พ.ค. 2564 นี้ ซึ่งต้องติดตามว่าที่ประชุมจะมีมติจะออกมาอย่างไร เพราะเจ้าหนี้การบินไทยมีมากถึง 36 กลุ่ม

จึงยังไม่แน่ว่าทุกกลุ่มจะ “โหวตรับแผนฟื้นฟู” กันอย่างพร้อมเพรียงหรือไม่

เพราะล่าสุดหลังจากได้เห็นแผนฟื้นฟูเบื้องต้นที่ยื่นต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา หลายฝ่ายยังอดเป็นห่วงไม่ได้ว่าแผนฟื้นฟูดังกล่าวจะนำไปสู่การฟื้นกิจการ “เจ้าจำปี” ได้เป็นผลสำเร็จหรือไม่?

เนื่องจากไม่มีการ “แฮร์คัต” ตัดลดหนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการ รวมถึงการ “ลดต้นทุน” ก็ยังเป็นไปด้วยความล่าช้า

ขณะที่กระทรวงการคลัง ซึ่งมีสถานะทั้ง “เจ้าหนี้” และ “ผู้ถือหุ้นใหญ่” ก็ยังสงวนท่าทีเรื่องการใส่เงินเพิ่มทุน ที่ตามแผนฟื้นฟูระบุถึงความต้องการใช้เงินทุนถึง 50,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “กฤษฎา จีนะวิจารณะ” ปลัดกระทรวงการคลัง ที่สวมหมวกอีกใบ ในตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการธนาคารกรุงไทย (KTB) ที่ถือว่าเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่อีกรายหนึ่งของการบินไทยด้วยเช่นกัน

Q : คลังกับกรุงไทยจะตัดสินใจเรื่องการบินไทยอย่างไร

ตอนนี้เขาคุยกันอยู่เรื่องแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย แต่ก็ต้องไปฟังความคิดเห็น ข้อกังวลของทางภาคเอกชนด้วย อย่างทางสถาบันการเงินว่าเขามีข้อกังวลในประเด็นไหน อย่างไร

โดยช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ทางผู้บริหารของการบินไทยก็มีมาพบ รมว.คลัง (นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ) ซึ่งเขาก็รายงานว่า แผนฟื้นฟูที่ทำมา เขาก็คิดว่าทำมาได้ดี สามารถปิดช่องว่างได้หลายส่วนพอสมควร หรืออย่างที่มีคนกังวลเรื่องการลดคน (ผู้บริหารและพนักงาน) ก็เห็นว่า เขาก็มีการลดคนจากเดิม 2.9 หมื่นคน ตอนนี้ลดลงเหลือ 1.9 หมื่นคนแล้ว และจะลดให้เหลือ 1.6 หมื่นคนต่อไป

Q : แผนที่มีการยืดหนี้ แต่ไม่ลดทุน-แฮร์คัต จะเวิร์กไหม

ต้องบอกว่า อันนี้เป็นเพียงโครงสร้างเฉย ๆ เนื่องจากมีข้อจำกัด แต่ถามว่าต่างกันอย่างไร มันเป็นเรื่องของ “แรงจูงใจ” คนที่จะเข้ามาเพิ่มทุนมากกว่า คือ ถ้ามองว่า คุณไม่ลดทุน ไม่ล้างขาดทุนสะสม ไม่แฮร์คัตคนใหม่ (นักลงทุนรายใหม่) ก็อาจจะไม่อยากเข้ามาร่วมใส่เงินเพิ่มทุน แล้วถามว่า การลดทุน จะลดเท่าไหร่อย่างไร หรือการแฮร์คัตหนี้ ก็ต้องบอกว่า บางอย่างเป็นหนี้ภาษี ในทางข้อกฎหมาย มันแฮร์คัตไม่ได้ ดังนั้น ก็จะติดในประเด็นนี้ ซึ่งสุดท้ายถ้าเขาไม่แฮร์คัตตรงนี้ แต่จะไปแฮร์คัตส่วนอื่น ก็จะไม่เป็นธรรมอีก

ฉะนั้น เขาก็ดูประเด็นเหล่านี้หมดทุกอย่าง และพยายามจัดทำแผนฟื้นฟูให้ออกมาแบบเดินไปได้ และมีความเป็นธรรมต้องพยายามบาลานซ์สิ่งเหล่านี้ เพื่อให้สิ่งที่ทุกฝ่ายจะได้รับออกมาใกล้เคียงกัน

เสร็จแล้วผมคิดว่า เดี๋ยวก็คงดูว่า อาจจะมีเงื่อนไขอะไร อย่างไร ก็ต้องไปดูกัน ซึ่งคลังได้ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) รวมถึง 2-3 แบงก์ที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ รีบคุยกัน

Q : คลังต้องใส่เงินถึง 2.5 หมื่นล้านบาท มีเงินไหม

อันนั้นเป็นสิ่งที่เขาเขียนไว้ในแผนฟื้นฟู

Q : แล้วคลังมีคำตอบเรื่องใส่เงินเพิ่มทุนหรือยัง

ตอนนี้ยัง โดยตามมติเราจะให้ สบน. และ สคร.ไปประชุมเจ้าหนี้ และเป็นผู้โหวตในส่วนของกระทรวงการคลัง แต่ถึงวันนี้ก็ยังมีเวลา เพราะกว่าจะประชุมก็วันที่ 12 พ.ค.

ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปนั่งไล่ดูแผนฟื้นฟูทั้งหมดให้ละเอียดอีกที ก่อนจะตัดสินใจ