ปลัดคลังบี้กรมภาษีแก้รายได้ต่ำเป้า 5 เดือนวูบกว่า 1 แสนล้านบาท

กุลยา ตันติเตมิท
กุลยา ตันติเตมิท

ปลัดคลังบี้ 3 กรมภาษีเร่งเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บรายได้ หลัง 5 เดือนแรกจัดเก็บหลุดเป้ารวมกันกว่า 1 แสนล้านบาท สศค.รับนโยบายคลังหาช่องเก็บรายได้เพิ่มแบบไม่ให้กระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ-ผู้ประกอบการ ยังมั่นใจปีนี้ปิดหีบงบประมาณได้ไม่ต้องออกกฎหมายกู้เพิ่ม

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้มอบนโยบายกรมภาษีให้เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2564

โดยขณะนี้ทั้งกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ได้รับนโยบายไปเร่งดำเนินการแล้ว หลังจากที่ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ (ต.ค. 2563-ก.พ. 2564) มีการจัดเก็บรายได้รวมกันต่ำกว่าเป้าหมายไปกว่า 1 แสนล้านบาท

“เราเข้าใจในเรื่องสถานการณ์โควิด-19 แต่เรื่องเป้าเก็บรายได้ของแต่ละกรมก็ยังอยากให้เป็นไปตามประมาณการในเอกสารงบประมาณ แม้อาจจะมีการหลุดเป้าหมายไปบ้าง โดยเห็นสัญญาณการเก็บรายได้ช่วง 5 เดือนแรกลดลง หายไปกว่า 1 แสนล้านบาท แต่ละกรมจึงจะต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพ ขณะที่ สศค.จะติดตามว่า ช่วงเวลาที่เหลืออยู่อีก 7 เดือน จะสามารถทำได้ใกล้เคียงเป้าหมายมากน้อยแค่ไหนบ้าง” นางสาวกุลยากล่าว

นอกจากนี้ สศค.ยังได้รับนโยบายให้หาแนวทางในการหารายได้เพิ่มเติมโดยจะต้องพิจารณารูปแบบการหารายได้เพิ่มด้วยว่าจะต้องไม่กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชน และผู้ประกอบการในช่วงนี้ ดังนั้น จึงต้องพิจารณาช่องทางว่ามีส่วนใดบ้างที่สามารถหาเม็ดเงินเข้ามาได้

ซึ่งนอกจากกรมภาษี ก็ยังมีการบริหารจัดการในส่วนอื่น ๆ ทั้งเงินนำส่งรายได้จากรัฐวิสาหกิจ ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จะเป็นผู้บริหารจัดการ

นางสาวกุลยากล่าวว่า สศค.และหน่วยงานจัดเก็บภาษีทุกกรม จะมีการประชุมติดตามเรื่องการเก็บรายได้ของกรมภาษีทุกไตรมาสว่า แต่ละกรมภาษีจะต้องจัดเก็บรายได้ได้จำนวนเท่าไหร่บ้าง และจะต้องมีการเร่งการจัดเก็บรายได้ส่วนใดบ้าง

“สำหรับปีงบประมาณ 2564 ไม่ต้องกังวลเรื่องที่ว่าจะไม่มีเงินใช้จ่าย เนื่องจากยังมีช่องว่างในการกู้เงิน โดยปีนี้กระทรวงการคลังได้วางกรอบการกู้เงินชดเชยขาดดุลงบประมาณไว้ 6.08 แสนล้านบาทแต่หากมีความจำเป็นต้องใช้เงินเพิ่ม ตามกฎหมายก็ยังมีช่องว่างในเรื่องการกู้เงินกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ได้อีก

ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้มีช่องกู้ได้อีก 1.27 แสนล้านบาท เมื่อรวมกันแล้วจะเป็นกว่า 7.3 แสนล้านบาท ดังนั้น จึงมั่นใจว่าขณะนี้กระทรวงการคลังสามารถบริหารจัดการเรื่องการบริหารเงินได้ และยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหาวิธีกู้เพิ่มเติม นอกเหนือจากส่วนดังกล่าวมาใช้” นางสาวกุลยากล่าว


รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้ของกรมภาษีในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 จัดเก็บรายได้ 842,187 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 105,521 ล้านบาท จากจำนวนทั้งสิ้น 962,066 ล้านบาท โดยกรมสรรพากรเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการไป 70,310 ล้านบาทกรมสรรพสามิตเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการไป 21,154 ล้านบาท และกรมศุลกากรเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการไป 2,046 ล้านบาท